เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ รองประธานกลุ่มประชาคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ พร้อมด้วยตัวแทนภาคประชาชน มาติดตามความคืบหน้าการยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุดและอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเหมืองแร่ทองคำ “อัคราไมนิ่ง”  รวมทั้งพนักงานสอบสวน กว่า 10 คน

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า สืบเนื่องจากอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอัครา พบมีการกระทำความผิดขุดทำเหมืองทองคำปนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1301 และถนนสาธารณะอีกหลายเส้น แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่แจ้งข้อกล่าวหาในการทำเหมืองนอกประทานบัตร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ มาตรา 43 มาตรา 58 และความผิดตามกฎหมายที่ดินมาตรา 12 โดยแจ้งเอาผิดเฉพาะการรุกล้ำ ปิดกั้น ทำให้เสื่อมค่า ซึ่งทางกลุ่มฯ เห็นว่า แจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบถ้วนส่งผลให้บริษัทเอกชนหลุดรอดถูกดำเนินคดีในชั้นศาล โดยได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน แต่กลับไม่ดำเนินคดีจนถึงทุกวันนี้

ล่าสุดวันที่ 7  ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุดว่าไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีในความผิดข้อหาขุดถนนสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอสั่งฟ้อง ซึ่งเห็นว่าขัดแย้งกับหลักฐานที่ได้ยื่นต่ออัยการสูงสุด เพราะบริษัทเอกชนเคยทำเงื่อนไขเป็นสัญญาประทานบัตรกับประเทศไทยว่า จะไม่ขุดถนนทุกเส้น และจะต้องกันแนวถนนออกไม่ต่ำกว่า 50 เมตร ดังนั้นบริษัทไม่สามารถขุดถนนทุกเส้นในการทำเหมืองทองคำได้ แต่กลับพบว่าบริษัทมาขออนุญาตเพียงปิดกั้นทำลายให้เสื่อมค่า เพื่อขุดสินแร่ทองคำและสินแร่เงินในถนนหลายเส้น โดยเห็นว่า ไม่สามารถขออนุญาตปิดกั้นทำลายให้เสื่อมค่าได้ ไม่สามารถขุดทองคำได้เพราะไม่ได้ขอประทานบัตรตั้งแต่แรก รวมถึงไม่ได้ขออนุญาตจาก รมว.มหาดไทยมาตั้งแต่ต้น ทั้งนี้หลักฐานในคดีอยู่ในมืออัยการสูงสุด ตั้งแต่ปี 2559 แต่มาอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอสั่งฟ้อง อาจเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติเพื่อเอื้อให้กับบริษัทเอกชนไม่ให้ถูกดำเนินคดี สร้างความเสียหายให้ประเทศไทยหลายแสนล้านบาท อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฟอกเงินและเลี่ยงภาษี เนื่องจากการขุดเอาทองคำในถนนหลายเส้นเป็นการเลี่ยงภาษีและลักลอบ โดยไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยอย่างถูกต้อง โดยได้ยื่นให้ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนแล้ว 

อีกทั้งการที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ประทานบัตรของบริษัทเอกชนเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ 15 คดี โดยมี 1 คดีส่งมายัง ป.ป.ช.เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกเอกสารสิทธิ ส่วนอีก 14 คดี เป็นข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แต่อัยการสูงสุดกลับไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่าบริษัทเอกชนขาดเจตนาในการบุกรุก จะอ้างแบบนี้ไม่ได้

“การที่พบการกระทำความผิดในเบื้องต้นจากสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นสั่งฟ้องมาแล้ว แต่อัยการเองกลับอ้างว่าขาดเจตนาบุกรุกและสั่งไม่ฟ้องไปศาล นี่คือการตัดพยานหลักฐานไม่ให้ศาลได้เป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมาย จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดโดยที่อัยการเองเป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น คดีนี้อัปยศเพราะศาลไม่ได้เป็นผู้พิจารณา เราจึงยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการสูงสุดและอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนทั้งในคดีขุดถนนทำเหมืองและคดีแปลงประทานบัตรบุกรุกป่าทั้ง 14 แปลง มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 10 ราย วันนี้เราจึงเดินทางมาจี้ให้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการสอบสวนและเร่งเอาผิดให้เร็วที่สุด เพราะการที่อัยการใช้ดุลพินิจขัดกับข้อเท็จจริงและขัดกับข้อกฎหมายย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง” นางวันเพ็ญ กล่าว

นางวันเพ็ญ กล่าวว่า การที่ไม่เอาผิดกับบริษัทเหมืองทองคำตามกฎหมายของไทย ถือเป็นการทำให้อาวุธสำคัญของไทยหายไป เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ดังนั้นการที่อัยการซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดิน ใช้ดุลพินิจไม่ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีสำคัญตามกฎหมาย ถือเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบและอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ประกอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วันนี้ถึงได้มายื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช. เป็นหนังสือแจ้งผลการไม่สั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในกรณีรุกป่า 14 คดี และไม่สั่งฟ้องในคดีขุดถนนสาธารณะทำเหมือง โดยได้ยื่นเรื่องนี้ให้กับ ป.ป.ช.ดำเนินการเมื่อต้นปี 2566 และได้ติดตามทวงความคืบหน้าเป็นระยะ จึงขอให้ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับคดีนี้ด่วนที่สุด

นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเร่งติดตามความคืบหน้าในการยื่นเรื่องเอาผิดทางวินัยขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการผู้รับผิดชอบในขณะนั้น อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกลุ่มก็อาจจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่อจากนี้ เพราะมองว่าการที่อัยการใช้ดุลพินิจโดยบิดผันทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทย รวมถึงติดตามความคืบหน้าที่เคยยื่นเรื่องให้ตรวจสอบนอมินีเหมืองแร่ทองคำ หลังตรวจสอบพบว่าบริษัทเอกชนถือหุ้นไขว้ และอาจใช้คนไทยเป็นนอมินี  หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ตรวจสอบพบความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้อง ในปี 2565  ซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี และเกรงว่าจะเกิดความล่าช้าจนคดีขาดอายุความหรือทำให้เกิดความเสียหาย หากอัยการสูงสุดไม่เร่งสั่งฟ้องคดีนี้ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนอมินีหากสามารถพิสูจน์ในชั้นศาลได้และสามารถพิพากษาได้ว่าบริษัทเอกชนต่างชาติใช้คนไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ก็จะทำให้การทำเหมืองทองคำตั้งแต่ต้นจนถึงปีที่รัฐบาล คสช.สั่งปิดเหมือง โดยทองคำและเงินที่ได้จากการทำเหมืองก็จะส่งคืนกลับให้ประเทศไทยทั้งหมด เพราะเป็นการประกอบธุรกิจผิดกฎหมายของการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยปรากฏตามเอกสารหลักฐานของทางบริษัทได้ยื่นดำเนินการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้สืบสวนยุ่งยากและคดีนี้เป็นข้อยุติจน DSI ได้สั่งฟ้อง ดังนั้นเห็นว่าอัยการจะต้องทำหน้าที่สั่งฟ้อง แต่เห็นว่าการกอดสำนวนนอมินีเอาไว้จนเกือบครบ 2 ปีทำให้เกิดความล่าช้าและอาจจะทำให้คดีนี้เสียหายเป็นอย่างยิ่ง