เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …  ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณแล้วเสร็จ ในวาระ 2 และวาระ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาของสภา วาระ 2 แบบเรียงมาตรา  พบว่า มติเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอต่อสภา ได้แก่ ร่างมาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 10 ที่ กมธ.เสียงข้างมาก การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา

ร่างมาตรา  4 แก้ไขมาตรา 11 ซึ่งยกเลิกวรรคสองและวรรคสาม และใช้ข้อความใหม่ ที่มีสาระสำคัญคือ กรณีที่ประชาชน 5 หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อ ครม.ให้พิจารณาทำประชามติ  สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นที่สภาอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ ร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดย กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง ทั้งนี้พบว่า กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย ซึ่งนายวุฒิสาร ชี้แจงว่า การออกมาทำประชามติถือเป็นหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องมีช่องให้งดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

ทั้งนี้มี สส.จากพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย สงวนความเห็นให้เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของมวลมหาประชาชน แต่ สส.พรรคเพื่อไทยและสส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นทักท้วงและสนับสนุนการแก้ไขตาม กมธ.เสียงข้างมาก

ด้าน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยตอนหนึ่งว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอวิกฤติของปัญหา โดย 1 ทศวรรษที่ผ่านมาพบประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ คือ ยุบพรรคก้าวไกลตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค สั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และคำถามที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เผชิญคือกังวลว่าจะซ้ำรอยการหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ โดยเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤติที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี 

ภายหลังจากที่ประชุมอภิปรายในวาระ 2 เรียงลำดับมาตราแล้วเสร็จ ได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขทั้งฉบับตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยมติเอกฉันท์ 409 เสียง จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป