สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร ของคณะมุขมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุมัติโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มเติม

บริษัทพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติของจีน (ซีเอ็นเอ็นพี) ระบุในแถลงการณ์บนแพลตฟอร์ม “วีแชต” ว่า บริษัทได้รับการอนุมัติให้สร้างเตาปฏิกรณ์ 3 ตัว ขณะที่บริษัทการลงทุนแห่งชาติด้านพลังงานของจีน (เอสพีไอซี) ระบุว่าได้รับการอนุมัติให้สร้างเตาปฏิกรณ์ 2 ตัว ส่วนบริษัท ซีจีเอ็น พาวเวอร์ ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า บริษัทได้รับการอนุมัติให้สร้างเตาปฏิกรณ์ 6 ตัว ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่ง

ตามข้อมูลของสมาคมนิวเคลียร์โลก (ดับเบิลยูเอ็นเอ) ปัจจุบัน จีนมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ 56 ตัว คิดเป็นประมาณ 5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเตาปฏิกรณ์ตัวใหม่จะกระจายอยู่ในมณฑลเจียงซู, มนฑลกวางตุ้ง, มณฑลซานตง, มณฑลเจ้อเจียง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

ทั้งนี้ สำนักข่าวธุรกิจแห่งหนึ่งของรัฐบาลจีน รายงานว่า การลงทุนทั้งหมดสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 11 ตัว คาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 220,000 ล้านหยวน (ราว 1.05 ล้านล้านบาท) โดยการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติโครงการสร้างเตาปฏิกรณ์ รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า จีนอาจไม่บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ และยังคงเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลก.

เครดิตภาพ : AFP