สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า ดัชนีเสรีภาพสื่อซึ่งมีการเผยแพร่ทุกปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยสมาคมนักข่าวฮ่องกง (เอชเคเจเอ) และสถาบันวิจัยความคิดเห็นสาธารณะฮ่องกง (เอชเคโพริ) เป็นการจัดอันดับสภาพแวดล้อมของสื่อ ตั้งแต่ระดับ 0-100 จากการสำรวจผู้สื่อข่าวมากกว่า 250 คน และประชาชนทั่วไปประมาณ 1,000 คน

ในปี 2567 คะแนนในหมู่ผู้สื่อข่าวลดลงเหลือ 25 คะแนน ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.7 คะแนน และจากการสำรวจครั้งแรก 17 คะแนน

ร้อยละ 90 ของผู้สื่อข่าวที่ตอบแบบสำรวจ ให้เหตุผลว่า เสรีภาพของสื่อการเมืองได้รับผลกระทบอย่างมาก จากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ที่มีการประกาศใช้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดบทลงโทษรวมไปถึงการจรกรรมข้อมูล และการแทรกแซงจากต่างประเทศ

กฎหมายซึ่งมีชื่อว่า “มาตรา 23” เป็นกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งมีการประกาศใช้ในฮ่องกง แทนกฎหมายฉบับแรกที่รัฐบาลจีนบัญญัติ และบังคับใช้ เมื่อปี 2563 หลังเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่และรุนแรงในฮ่องกง เมื่อปี 2562

มากไปกว่านั้น ร้อยละ 94 ของผู้สื่อข่าว อ้างถึงคดีของนาย จิมมี ไหล่ มหษเศรษฐีในวงการสื่อ ผู้ก่อตั้งสื่อแอปเปิล เดลี ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับแรก เช่นเดียวกับการหายตัวไปจากกรุงปักกิ่งของ น.ส.มินนี ชาน ผู้สื่อข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ ของฮ่องกง ก่อนหน้านี้ เอชเคเจเอออกแถลงการณ์แสดงความกังวล เกี่ยวกับสถานะของชาน หลังไม่สามารถติดต่อกับเธอได้ ตั้งแต่การประชุม “ปักกิ่ง เซียงซาน ฟอรัม” เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่คะแนนจากบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 42.2 ซึ่งลดลงมากจาก 45 คะแนน เมื่อปี 2561 และ 41.9 คะแนนในปี 2562 “ความคาดเคลื่อนของคะแนนอาจเป็นเพราะ มาตรา 23 ยังมีเนื้อหาไม่ค่อยเข้มข้นนัก เมื่อเทียบกับกฎหมายความมั่นคงฉบับปี 2563” เอชเคเจเอระบุ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวยังคงกังวลต่ออาชญากรรมที่อาจเกิดจากมาตรา 23

รายงานดัชนีดังกล่าวได้รับการเผยแพร่เพียงไม่กี่สัปดาห์ หลัง เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ปลด นางเซลินา เฉิง ประธานคนใหม่ของเอชเคเจเอ ออกจากบริษัท และจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการอธิบายเหตุผลอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เน้นย้ำว่า “กองบรรณาธิการยังคงสนับสนุนเสรีภาพสื่อ อย่างแข็งขันและหนักแน่น”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES