เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative District) เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ กทม. ว่า ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับเส้นเลือดฝอย นั่นคือชุมชน จึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนและพัฒนาให้สถานที่เหล่านั้นเป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ต่างๆ ขึ้นเพื่อดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามบริบท รวมถึงสร้างภาคีเครือข่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ต่างๆ กทม. เช่น ย่านทรงวาด ที่ผู้ประกอบร่วมกันพัฒนาขึ้นมาจนมีชื่อเสียง, ย่านตลิ่งชัน ที่ กทม. ให้บริการเดินรถ Feeder เชื่อมตลาดน้ำ 4 แห่ง, ย่านบางลำพู ที่มีไกด์เยาวชนค่อยแนะนำนักท่องเที่ยว เป็นต้น

นายศานนท์ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาย่านสร้างสรรค์นั้น ดำเนินการ 2 แนวทางคือ 1.การพัฒนาคน หรือ ซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละย่านมีพลังมีศักยภาพอยู่แล้วแต่เราจะต้องทำให้เกิดลักษณะนี้มากขึ้นเพื่อกระจายไปพัฒนาสนย่านต่างๆ โดยใช้วิธีเปลี่ยนจากการสนับสนุนในย่านเดิมๆ เราเป็นเป็น Opencall มากขึ้น โดยเปิดให้ประชาชนส่งเรื่องราวชุมชนของตนเอง หรือชาวชุมชน ผู้ประกอบการ ได้นำเสนอแนวคิดและการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าแต่ละย่านแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ที่ดีอยู่แล้ว เราเพียงแค่ดึงอัตลักษณ์เหล่านั้นออกมา ซึ่งปีที่ผ่านมา ดำเนินการไป 20 ย่าน และในปี 67 นี้ เป้าหมายดำเนินการเพิ่มรวมกับย่านเดิม เป็น 30 ย่าน แล้วในปีหน้าตั้งเป้าที่จะพัฒนาย่านสร้างสรรค์ต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยอย่างน้อย 1 เขต ก็จะต้องมี 1 ย่านสร้างสรรค์

และ 2.คือการพัฒนาเรื่องฮาร์ดแวร์ หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของย่านต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการปรับปรุงทางเท้าให้เป็นทางเท้าเดินได้ เดินดี การขนส่งสาธารณะที่จะต้องเข้าไปถึงแหล่งชุมชนได้อย่างสะดวก ไฟฟ้าส่องสว่าง และความปลอดภัย รวมถึงถนนในซอย ป้ายบอกเส้นทาง ทั้งนี้ หากเรากระตุ้นเพียงแค่คนอย่างเดียวอาจไม่พอ บางครั้งต้องมีฮาร์ดแวร์จากเมืองเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงได้ง่าย และสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือการเชื่อมย่านเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ กทม. พัฒนามา ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู คลองผดุงกรุงเกษม คลองคูเมืองเดิม ซึ่งคลองเหล่านี้มีเส้นทางเชื่อมโยงต่อกัน หรือแม้กระทั่งจากเยาวราช ก็เดินเชื่อมมาปากคลองตลาดได้ ดังนั้นการพัฒนาย่านจึงไม่ใช่แค่พัฒนาคนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายย่านต่างๆ ด้วยกัน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต.