เมื่อวันที่  21 ส.ค. ที่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นสพ.เดลินิวส์ และ เดลินิวส์ออนไลน์  จัดงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Dailynews Talk 2024) ครั้งที่ 3 ของปีนี้ ในหัวข้อเรื่อง “THAILAND : FUTURE AND BEYOND…ก้าวต่อไปของประเทศไทย” มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ถอดรหัส…โอกาสเศรษฐกิจไทย” และมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าลมต้านเศรษฐกิจ…สู่การเติบโตที่ยั่งยืน” โดยมี นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์

พร้อมด้วย น.ส.ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และนายพชรกฤษฏิ์ ชื่นชม ประธานบริหาร บริษัท พชรกฤษฏิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมวงเสวนา

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า  เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ยังเติบโตต่ำแค่ 2%  ถือว่าอยู่ในช่วงผงกหัวขึ้น  แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งถ้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทาง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ แน่นอนว่าเรื่องสงครามการค้าเกิดขึ้นแน่ ประเทศจีน จะไม่มีที่ระบายสินค้า ก็ต้องส่งออกมายังประเทศพันธมิตรเพื่อนบ้าน สินค้าจีนจะทะลักในอาเซียน  ทำให้ไทยต้องมองหาตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต เช่น กลุ่มซีแอลเอ็มวี  อินเดีย แอฟริกา เป็นต้น ซึ่งญี่ปุ่นเข้าไปยังภูมิภาคแอฟริกา ตั้งแต่ 15 ปีแล้ว เป็นเศรษฐกิจที่มีโอกาสเกิดใหม่

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องกลับมามอง คือ  สินค้าไฮเทค ที่ยังมีสัดส่วนน้อย ไม่เกิน 25% ขณะที่คู่แข่งเพื่อนบ้านมีสัดส่วนส่งออกไป 40% แล้ว และสินค้าสีเขียวยังน้อย  ผู้ประกอบการสินค้าสีเขียวที่ผันตัวไปเป็นผู้ส่งออกยังมีน้อยแค่ 1% เท่านนั้น  หากสามารถปรับตัวกลายเป็นผู้ส่งออกได้ จะมีรายได้มากกว่าขายในประเทศอย่างเดียวถึง 2.5 เท่า ผู้ประกอบการจึงควรมองต่างประเทศมากขึ้น”

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้หากมองในส่วนของผู้บริโภคก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปต้องการสินค้าสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะจ่ายกับสินค้ากลุ่มดังกล่าวสูงถึง 80% ในการซื้อสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืน  เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เนื่องจากประเทศต่างๆ มีกฎหมายและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์สีเขียว มีการกำหนดภาษีคาร์บอนฯ  ต้องนำไบโอพลาสติกมาใช้  ถือเป็นกำแพงในการนำสินค้าเข้าไป ถ้าไม่ปรับตัวจะมีต้นทุนที่สูงกว่า และสูญเสียตลาดส่งออกได้

“ผู้ประกอบการส่งออกของไทย ต้องมองไปยังตลาดใหม่ๆ มากกว่า 5 ประเทศตลาดหลัก  เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ที่เศรษฐกิจเติบโตสูง ประชากร 40% อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ที่ต้องกินต้องใช้ รวมถึงตลาดในตะวันออกกลาง ที่เติบโตสูง รายได้เงินในกระเป๋าประชากรมากกว่าคนไทย 7 เท่า และยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ต่างจากตลาดเก่า เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสินค้าที่มีโอกาสในตลาด คือ สินค้าที่เกี่ยวกับการรักษ์โลก ดิจิทัล และสุขภาพ ซึ่งในส่วนของสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ไทยก็มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วต้องรักษาความเป็นผู้นำไว้”

“เมื่อผู้ประกอบการสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้ให้มีกรีน ดีเอ็นเอ จะมีโอกาสใหม่ๆ  มีสินเชื่อซอฟต์โลนจากภาครัฐสนับสนุน ทั้งการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นโรบอท ออโตเมชั่น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียว ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ  4-5% เท่านั้น  ซึ่งหากผู้ประกอบการเปลี่ยนสินค้าให้มารักษ์โลก มีแพ็กเกจที่ย่อยสลายได้ สามารถตั้งราคาขายที่สูงขึ้นได้ และเปิดตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ จะช่วยให้มีรายได้เติบโตและยั่งยืนได้”