ในยุคที่การบริหารต้องโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ผู้นำ และผู้บริหาร จะถูกตรวจสอบได้เสมอ ถ้าเป็นภาคธุรกิจ ก็จะผ่านช่องทาง Whistleblowing การแจ้งเบาะแส โดยเรื่องร้องเรียนจะถูกส่งไปที่กรรมการจริยธรรมเพื่อตรวจสอบ ตัดสิน หรือถ้าเป็นภาครัฐ ก็แจ้งไปตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการส่งเรื่องไปที่ศาลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน ทำให้คิดถึงละค “เปาบุ้นจิ้นกับศาลไคฟง” ที่มีการตัดสินประหารคนชั่วช้าคดโกงเป็นประจำ ดังนั้น ผู้นำที่ดีจึงต้องแสดงความซื่อสัตย์สุจริตให้เห็นประจักษ์ เพื่อเป็นตัวอย่างเป็นมาตรฐาน

ในการประชุมกรรมการจริยธรรมขององค์กร มักจะมีคำถามในหมู่กรรมการว่า ในกรณีที่ได้รับการร้องเรียนมาจะตัดสินตามมาตรฐานจริยธรรมระดับไหน เช่น 1.ขั้นตํ่าที่สุด คือมาตรฐานตามกฎหมาย ซึ่งกรรมการภาครัฐมักจะยึดตามที่เขียนไว้ในเอกสาร ตีความตามที่กฎหมายกำหนด หรือ 2.ขั้นสูงขึ้นมา คือมาตรฐานตามสากล ขององค์กรประเภทเดียวกัน เป็น International Standard ที่จะมีรายละเอียด และมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย หรือ 3.ขั้นสาธารณะ คือมาตรฐานตามขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม ที่ทุกคนยอมรับ ไม่ขัดสายตา ตามสามัญสำนึกของสามัญชน

ข้อร้องเรียนและคดีต่าง ๆ ต้องตัดสินอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม สร้างบรรทัดฐาน เพื่อกู้วิกฤติความเชื่อมั่น เราจะเห็นว่ามีคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคดโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ที่ยังค้างคาอยู่ในศาลจำนวนมาก บ้างก็ยืดเวลาไป เงียบหายไปจนเราลืมไปแล้ว ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบความยุติธรรมของประเทศ และทำให้เกิดคดีใหม่ ๆ ที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่าถ้ามีเงิน หรือมีอำนาจ จะทำอะไรก็ไม่ผิด

ที่ผ่านมาคงเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า เราเริ่มมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงขึ้น และหวังว่าคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต จริยธรรม ธรรมาภิบาล จะถูกยกระดับขึ้นตามกันไป เราจะได้เข้าใจคำว่า “ซื่อสัตย์สุจริต” ที่เป็นรูปธรรม มิใช่แค่นามธรรม และจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าเรารีบขยายผล โดยทำหลักสูตรความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานจริยธรรมในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย โดยใช้กรณีศึกษาจริง ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงนี้เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ในหลักสูตรไปเลย ดีกว่าให้เยาวชนของเราไปเรียนรู้จากละคร “พิภพมัจจุราช” ที่ต้องให้ตายก่อน…ถึงจะโดนพิพากษา.