เขาเตรียมการกันอย่างไร ในเรื่องการจัดการความยั่งยืน การลด Carbon Footprint การแยก ลด นำของเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการชดเชยคาร์บอนไปโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ และก็ได้มีผู้อ่านแนะนำว่า ถ้าเรานำความรู้เหล่านี้มาเป็นข้อพิจารณาในการจัดงานใหญ่ ๆ ในบ้านเราบ้างน่าจะดี แล้วยังถามผมต่อว่ามีการจัดงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืนที่จัดกันบ่อยมากช่วงนี้ ผู้จัดงานใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังหรือไม่ หรือทำเพื่อประชาสัมพันธ์เกาะกระแสไป
ผมตอบท่านไปแบบเสียงเบา ๆ ว่าผมถูกเชิญไปงานมหกรรม สัมมนาวิชาการ งานเปิดตัวสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนบ่อยมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งไปในฐานะแขกผู้มีเกียรติ ทั้งเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ หรือเป็นพิธีกร และเป็นผู้ทำข่าว สิ่งที่พูดได้ไม่เต็มปากนักก็คือ ผู้จัดงานสนใจเรื่องนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่วนใหญ่พยายามจัดองค์ประกอบที่ควบคุมได้ แต่ยังทำได้ไม่ดีนัก เขาบอกผมว่าถ้าผมขึ้นเวทีก็ให้เพลา ๆ หน่อย อย่าจี้จุดอ่อนเรื่องนี้นัก เพราะบางเรื่องผู้จัดตัดสินใจเองไม่ได้ มันเกี่ยวกับงบประมาณ สถานที่ และกรรมการระดับผู้ใหญ่ ซึ่งแต่ละคนให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญเร่งด่วนคือ ต้องราคาถูก ประหยัด มีจำนวนผู้ร่วมงาน และทำข่าว PR ประชาสัมพันธ์มาก ๆ
ถ้ามีผู้จัดงานเกี่ยวกับความยั่งยืนได้อ่านบทความนี้อยู่ ผมได้รวบรวมแนวคิดและหลักปฏิบัติระดับโลกที่เก็บไว้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการจัดงานได้
1.การคัดเลือกคณะกรรมการจัดงาน ที่ควรมีความรู้ด้านความยั่งยืน หรือมีผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยให้ความคิดเห็นด้วยจะดีมาก และถ้าท่านประธาน หรือรองประธานมี Passion เรื่องนี้จริงจังก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก
2.คณะกรรมการควรพิจารณาเรื่องผลกระทบต่อความยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการจัดงาน และหาวิธีลด กับการชดเชยผลกระทบให้มากที่สุด เช่น เราสามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนคนที่มางาน ข้อมูลรูปแบบการเดินทาง กับระยะทางของผู้ชมงานและผู้มาออกงาน ข้อมูลการใช้พลังงานและนํ้าของพื้นที่จัดงาน ข้อมูลการใช้วัสดุเพื่อสร้างและตกแต่งบูธ ข้อมูลอาหารที่บริการผู้มางาน และข้อมูลของเสียเหลือทิ้ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำมาคำนวณ Carbon Footprint ที่จะเกิดจากงาน รวมถึงหากลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบนั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องหาวิธีชดเชย เช่น ที่โอลิมปิก กรุงปารีส เค้ารู้ว่าจากการจัดโอลิมปิกที่ผ่านมาปล่อยคาร์บอน 3.5 ล้านตัน เขาตั้งเป้าหมายที่จะลดให้ได้ 1.75 ล้านตัน โดยใช้เวลาเตรียมการ 4 ปี เป็นต้น ดังนั้นกรรมการจัดงานของเราต้องรู้ก่อนว่างานที่จะจัดสร้างผลกระทบอย่างไร กับจะลดผลกระทบเท่าไร ด้วยวิธีใด ที่ส่วนใหญ่มักโฟกัสที่ Carbon Footprint
3.การเลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจความยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ สถานที่จัดงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และสะดวกในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ จะเป็นทางเลือกที่ดี และถ้าสถานที่นั้นสามารถคำนวณคาร์บอน และมีระบบบริหารจัดการอัจฉริยะในการประหยัดพลังงานที่ดี เช่นสามารถปรับอุณหภูมิ และแสงสว่างตามจำนวนผู้ใช้งาน ลักษณะการใช้งาน และอุณหภูมิภายนอก ไม่เปิดแอร์ให้หนาวเกินความจำเป็น รวมถึงถ้าสถานที่จัดงานมีมาตรฐานการลด และชดเชยคาร์บอนให้ด้วยจะยิ่งดีมาก
4.การก่อสร้างบูธที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้า เลือกวัสดุที่ยั่งยืน วิธีก่อสร้างที่มีคาร์บอนตํ่า และต้องดูว่า หลังเลิกงานวัสดุต่าง ๆ จะถูกทิ้งกลายเป็นขยะหรือนำไปใช้ใหม่ได้อย่างไร
5.การบริหารจัดการอาหารและขยะแบบยั่งยืน อาหารถือว่ามีส่วนสำคัญกับความยั่งยืนมาก และงานที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมากมักจะสร้าง Carbon Footprint และ Waste สูง ดังนั้น อาหารที่มาจากพืชจะสร้างผลกระทบน้อยกว่าอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ อาหารที่มาจากท้องถิ่น ที่อยู่ไม่ไกลจากที่จัดงานก็จะช่วยลดผลกระทบได้มาก และการเลือกอาหารที่สนับสนุนรายได้ให้ชุมชนจะยิ่งดีขึ้นไปอีก รวมถึงจะต้องจัดการขยะต่าง ๆ จากงานให้มีการคัดแยกขยะลดใช้พลาสติก ก็จะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้
6.การเดินทางคาร์บอนตํ่า ควรมีคำแนะนำการเดินทางด้วยรถสาธารณะ และหาแรงจูงใจให้ผู้ร่วมงานใช้รถสาธารณะให้มากที่สุด มีการวางแผนการจัดการการเดินทางของผู้จัดงานและอาสาสมัครให้มีคาร์บอนตํ่าที่สุด
7.การชดเชยคาร์บอน โดยควรพิจารณาว่าไปที่โครงการใดบ้าง สร้างประโยชน์ให้ชุมชนอย่างไร องค์กรต่าง ๆ ที่มาร่วมงานกับผู้มาชมงานจะมีส่วนร่วมในการชดเชยได้ไหมและอย่างไร หรือในปีนี้เราตั้งเป้าจะช่วยลดคาร์บอนลงเท่าใด ชดเชยเท่าใด
8.ประชาสัมพันธ์ผลกระทบเชิงบวก ด้วยความคิดดี ๆ เหล่านี้ ต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นกรณีศึกษา ให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการจัดงานด้านความยั่งยืน จนเป็นมาตรฐานใหม่ในการจัดงานใหญ่ของประเทศ ยิ่งถ้ามี Dashboard ตัวเลขสำคัญด้านความยั่งยืนที่เราตั้งเป้าหมายให้สาธารณะได้เห็นอย่างเปิดเผยโปร่งใสรายวัน ก็จะเป็นการสื่อสารที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้การร่วมมือกับสื่อมวลชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน ควรมีการวางแผนและสื่อสารร่วมกันตั้งแต่ก่อนการจัดงาน
ช่วงจัดงานและหลังจัดงาน เพื่อให้เกิด Impact สร้าง Movement ไม่ใช่เป็นแค่ Event
หวังว่าแนวทางการจัดงานด้านความยั่งยืนนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเลือกแค่จัดงานโดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้แล้ว และ “ข้ออ้างที่ว่าทำไม่ได้” นั้น
น่าจะค่อย ๆ หมดไป.