นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตนจะครบเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 67 ที่ผ่านมาพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติ ไม่รู้สึกห่วงกังวลใดๆ ในการเดินหน้าสานงานต่อของนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะว่าที่อธิบดี ทล.คนใหม่ เนื่องจากเป็นลูกหม้อเดิมของ ทล. และทำงานร่วมกันกับตนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด 15 ปี มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินโครงการต่างๆ ของ ทล. ได้อย่างต่อเนื่อง

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า งานสำคัญที่ค้างอยู่ และว่าที่อธิบดี ทล.คนใหม่ ต้องเร่งผลักดันก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ภายในเดือน มิ.ย. 68 ถือเป็นงานที่ท้าทาย นั่นคือ โครงการต่างๆ บนทางหลวงหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่มีเป้าหมายเปิดให้ใช้บริการฟรีปลายปี 67 และพร้อมเปิดบริการเต็มรูปแบบกลางปี 68

 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี ช่วงหินกอง-ปากช่อง ระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร (กม.) ปลายปี 67 เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้บริการ ช่วงปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กม. ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการมอเตอร์เวย์ M6 ได้ตั้งแต่หินกอง-โคราช รวมระยะทาง 167 กม. จากทั้งหมด 196 กม. คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ตั้งแต่บางปะอิน-นครราชสีมา ได้ภายในปลายปี 68 ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบไม่เกินกลางปี 69

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับงานใหม่ อาทิ งานก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเลี่ยงเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ระยะทาง 7.998 กม. วงเงิน 5,080 ล้านบาท, โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ช่วงพุทธมณฑลสาย 3-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท และช่วงพุทธมณฑลสาย 4-ทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 17.980 กม. วงเงิน 12,250 ล้านบาท และโครงการพัฒนาคูน้ำริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ระยะ (เฟส) ที่ 2 ระหว่าง กม.5+500-กม.30+300 ช่วงแยกดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต-คลองบึงทะเลสาบ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทาง 24.8 กม. ต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 67 และเฟส 3 ระหว่าง กม.8+700-กม.25+500 ช่วงคลองบางซื่อ (ซอยวิภาวดีรังสิต 3)-ฐานทัพอากาศดอนเมือง 16.8 กม. แล้วเสร็จในปี 69

ขณะเดียวกันมีงานที่เอกชนจะร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) อีกหลายโครงการที่รอดำเนินการอยู่ อาทิ โครงการเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์สายต่างๆ ได้แก่ มอเตอร์เวย์ M6, มอเตอร์เวย์ M81 และมอเตอร์เวย์ M7 นอกจากนี้จะดำเนินการ PPP งานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์ M82 รวมทั้ง PPP โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 5 (M5) สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ส่วนงานที่พร้อมดำเนินการ ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 (M8) ช่วงนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. ซึ่งปรับปรุงผลการศึกษาแล้วเสร็จ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงนครปฐม (นครชัยศรี)-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. และช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กม. ทั้งนี้การก่อสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อ จะใช้เงินกู้ วงเงินประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอ ครม. สิ้นปี 67 ขณะที่ช่วงปากท่อ-ชะอำ รูปแบบยังไม่จบ ต้องเคลียร์แนวเส้นทางที่ประชาชนคัดค้านเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยจะทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไปซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นความมั่นคงในการเดินทาง หากถนนเพชรเกษมถูกตัดขาดน้ำท่วม เส้นทางดังกล่าวจะเป็นเส้นสำรองในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ได้

สำหรับงานที่ต้องเตรียมดำเนินการ ได้แก่ งานจ้างศึกษาโครงการมอเตอร์เวย์ สายชลบุรี (แหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 315 กม. ตลอดจนผลักดันการการใช้งบประมาณปี 68 ซึ่ง ทล. ได้รับงบประมาณวงเงิน 127,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 67 กว่า 5 พันล้านบาท และมีโครงการที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 4,700 รายการ.