เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เวลา 14.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์  พรรคประชาธิปัตย์ประชุม สส.ประจำสัปดาห์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ โดยการประชุม สส.ในครั้งนี้ไม่ได้มีวาระอะไรพิเศษ ขณะเดียวกันมี สส.เข้าร่วมประชุมบางตา แม้กระทั่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคฯ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และเลขาธิการพรรคฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ทั้ง 2 คนได้เดินทางมายังที่ทำการพรรคฯ ตั้งแต่ช่วงสาย และได้เดินทางออกไปจากที่ทำการพรรคฯ ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่พรรคฯ ว่าจะกลับมาร่วมประชุมกับ สส.หรือไม่

ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาร่วมประชุม สส. โดยปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เตรียมจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

ด้านนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเดียวกัน ว่า ขณะนี้ยังไม่มีมติของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่กลับมีการนำเสนอข่าวว่าเราเป็นเหมือนพรรคสำรอง พรรคอะไหล่ ซึ่งทำให้ผู้ที่สนับสนุนพรรคฯเสียใจ และท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเคารพมติพรรค ยกตัวอย่างการร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามี 2 เงื่อนไข คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร

“พฤติกรรมของคนที่ดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาลก็มีอยู่จริง ผมจึงอยากให้แยกแยะระหว่างพฤติกรรมของพรรคฯ กับพฤติกรรมของคนบางคน แต่ถ้าอยากให้ร่วม ก็ไม่เป็นไร ผมอยู่มา 50 ปี ไม่เคยขัดมติพรรค แม้จะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ปฏิบัติตามมติพรรค เพราะระบบพรรคการเมืองมันอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมไม่ขอออกความเห็นว่าหากประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลจริงควรจะมีเงื่อนไขอะไร เพราะผมไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค แค่มีจุดยืนส่วนตัวว่าไม่ร่วมตั้งแต่ต้น เพราะไม่อยากถูกประณามว่าทรยศชาวบ้าน แม้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนท่วมท้น แต่ในภาคใต้ไม่มี สส.แม้แต่คนเดียว” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจริงๆ แต่ถ้าหากเป็นฝ่ายค้านแล้วลังเลใจ เวลามีมติอะไร ก็ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวเขาจะโกรธ และไม่ให้ร่วมรัฐบาล เพราะการเป็นฝ่ายค้าน แม้ สส.น้อย แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ และในฐานะที่ตนเป็น สส.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ อะไรที่ดีก็พร้อมสนับสนุน สำหรับทางออกที่ไม่ให้ถูกยุบพรรค คือไม่กระทำผิดหรือไปแก้กฎหมายในอนาคต ไม่ใช่ให้ยุบทั้งพรรค แต่ให้มีโทษกับผู้ที่กระทำความผิดเป็นรายบุคคล

“ระบบพรรคการเมืองเป็นแบบนี้ ผมอยู่มา 50 ปี ไม่เคยขัดมติพรรค ระบบพรรคมีของดีอยู่แบบนี้ ถึงอยู่มาได้ยาวนาน หากไม่มีของดีอยู่บ้างพรรคก็อยู่ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์เคยถูกฟ้องยุบพรรคมาแล้ว 2-3 ครั้ง โดยพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ร้อง แต่ประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ กลับมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักไทย มีคนนำเงินไปยื่นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 30 ล้านบาท เมื่อมีคนด่าตุลาศาลรัฐธรรมนูญ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่าซื่อตรง เมื่อเรื่องยื่นเงิน 30 ล้านบาทแดงขึ้นมา คนวิ่งเต้นเป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ ครั้งแรกให้ไป 15 ล้านบาท ถูกปฏิเสธ จึงตามไปถึงที่บ้านและเสนอเงิน 30 ล้านบาท ผมไม่อยากจะเอ่ย เพราะมันจะกระทบถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และยังมีตัวตนอยู่ในทุกวันนี้ และเป็นกลุ่มธุรกิจการเมือง” นายชวน กล่าว