นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟมาเลเซีย ครั้งที่ 42 (42nd KTMB – SRT Joint Conference) ณ เมืองโคตา คินาบาลู รัฐซาบาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่า รฟท. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน รฟท. เข้าร่วมประชุม มีมติเห็นชอบหลักการจัดเดินขบวนรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์–ปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของชาวไทย และชาวมาเลเซียให้ไปมาหาสู่กันแบบไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศด้วย

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ขยายเส้นทางขบวนรถไฟท่องเที่ยว MySawasdee จากมาเลเซียมาไทย จากเดิมเปิดให้บริการถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่  ให้ขยายมาถึงสถานีสุราษฎร์ธานี หลังขบวนรถท่องเที่ยว MySawasdee ได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม มีจำนวนผู้โดยสารเต็มทุกเที่ยว การขยายเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะมีการตกลงรายละเอียด และระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป เบื้องต้นจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาการเปิดให้บริการขบวนรถไฟเส้นทางต่อขยายจากสถานีกลางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ไปยังสถานีบัตเตอร์เวอร์ธ ซึ่งช่วงแรกจะเป็นการทดลองเดินรถเป็นระยะเวลา 6 เดือน 

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ยังได้หารือการขยายความร่วมมือทางการขนส่งสินค้า โดย รฟท. ยินดีสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามแดน และเส้นทางประเทศไทย อาทิ  เส้นทางปาดังเบซาร์–ชุมทางหาดใหญ่ ชุมทางหาดใหญ่–บางกล่ำ/ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์/กันตัง และปาดังเบซาร์–กรุงเทพ/สะพลี/นาประดู่ เป็นต้น ตลอดจนรับทราบความสำเร็จความร่วมมือการเปิดเดินขบวนรถ ASEAN Express เส้นทางมาเลเซีย–ไทย–ลาว-จีน ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับมีแผนเพิ่มความถี่ในการเดินขบวนรถ ASEAN Express จากสัปดาห์ละ 1 เที่ยว เป็นสัปดาห์ละ 2 เที่ยวอีกด้วย

นายเอกรัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการนำรถจักร Class G10 แคร่ BCF Series 26 (ขนาดน้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา) และแคร่ BCF ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน/เพลา ของการรถไฟมาเลเซียมาใช้ในเส้นทางรถไฟไทย ภายใต้กระบวนการตรวจสอบรายละเอียดทางด้านเทคนิคตามที่ รฟท. กำหนด และยังเห็นชอบให้ร่วมมือจัดอบรมหลักสูตร KTMB038  ด้านความปลอดภัย ทั้งแบบออนไลน์สำหรับผู้ต่อใบอนุญาต และอบรมในสถานที่จริงสำหรับผู้เข้ารับการอบรมครั้งแรก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยสามารถร่วมมือปฏิบัติหน้าที่ในฝั่งมาเลเซียได้ต่อไป

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า การประชุมความร่วมมือด้านการขนส่งทางรางของไทย และมาเลเซียครั้งนี้ นับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญ ที่จะช่วยยกระดับการเดินทางรถไฟของทั้ง 2 ประเทศ ให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ถึงกันแบบไร้รอยต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวร่วมกัน และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอนาคต.