เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่มีรายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade Ib) ที่มีความรุนแรง และกำลังระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา ว่า ยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่เจอฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลด 1 บี แต่เราเจอในสายพันธุ์เคลด 2 บี (Clade IIb) มาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ประมาณ 800 ราย ส่วนในปี พ.ศ. 2567 พบประมาณ 140 ราย อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ดำเนินการเฝ้าระวังคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นมาตลอด แม้กระทั่งช่วงนี้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการเฝ้าระวัง แต่ก็ยังไม่ได้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความกังวล ตนขอแจงว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก ให้ความสนใจ เพราะพบการระบาดของโรคสูงขึ้นในแถบแอฟริกา แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ไม่ควรติดเชื้อ ไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร แม้ว่าสายพันธุ์เคลด 2 บี ที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงก็มักหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรติดเชื้อ ส่วนสายพันธุ์เคลด 1 บี ที่กังวล เนื่องจากเกิดการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสติดได้ง่ายขึ้น มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า เช่น ละอองฝอยน้ำลาย เพราะเดิมทีการติดเชื้อฝีดาษลิง จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก ๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์

“สำหรับประเทศไทย ได้ยกระดับเรื่องความเข้มข้นในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ดูถี่มากขึ้น เฝ้าระวังมากขึ้น พร้อมให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักมากขึ้น เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับ Sex Worker ก็ต้องทราบเรื่องนี้ ต้องเฝ้าระวังตัวเองมากขึ้น ดูว่าผู้ที่เข้ามานั้น มีอาการผิดสังเกต มีตุ่มแผลตามร่างกายหรือไม่” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ร่างกายมีตุ่มหนองเกิดขึ้น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมบอกความเสี่ยงของตัวเอง ส่วนแพทย์เองก็จะทำการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงให้ หากพบว่าติดเชื้อ ก็จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ เพื่อจำแนกสายพันธุ์และเฝ้าระวังต่อไป เช่น หากเจอเป็นสายพันธุ์เคลด 1 บี ก็ต้องรายงานกรมควบคุมโรค เพราะโอกาสการระบาดจะมากขึ้น ทางกรมฯ ก็จะได้ยกระดับเฝ้าระวังขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย ที่เสียชีวิตราว 10 รายนั้น ยังคงเป็นกลุ่มที่เกิดการติดเชื้อร่วมกับการป่วยเอชไอวี (HIV) อยู่.