หลังจากที่ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) ยกเลิกให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมหกรรมกีฬา เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งตามกำหนดล่าสุด จะแข่งในเดือน พ.ย.นี้ หลังจากเกมส์ดังกล่าวเลื่อนแข่งอุตลุดมาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งนี้ โอซีเอมีหนังสือถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ลงวันที่ 19 ส.ค. 67 แจ้งว่า ตามที่ กกท. มีหนังสือถึงผู้รักษาการประธานโอซีเอ ระบุในหนังสือว่าทันทีที่ได้รับงบประมาณจะดำเนินการตามขั้นตอนการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ที่ยังไม่ได้ยุติ เนื่องจากงบประมาณที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร ทำให้เกิดผลกระทบในหลายส่วน ในการจัดการแข่งขันภายในระยะเวลา 3 เดือน นั้น โอซีเอไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงในครั้งนี้ได้ โอซีเอจึงมีมติให้ยกเลิกการจัดการแข่งขัน
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 ส.ค. 67 นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ทางช่อง MCOT HD ว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน พร้อมเดินหน้าอยู่แล้ว แต่ต้องมาดูหลายประเด็น ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะผูกพันในเรื่องการเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลนี้ก็ต้องมาดูความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าก้มหน้าก้มตารับในทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องที่พิจารณา มี 3 เรื่อง คือ 1.งบประมาณ ความโปร่งใส 2.การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่ออกระเบียบภายในกันเอง และ 3.ความคุ้มค่ากับเงินอีกราวพันกว่าล้านบาทที่จะต้องจ่าย
เมื่อพิธีกรถามว่า ทำไมเพิ่งมาตั้งคำถาม 3 ข้อเอาในตอนนี้ ที่ใกล้ถึงวันแข่ง นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ถ้า นายเสริมศักดิ์ อนุมัติในกรอบวงเงิน 1.3 พันล้านบาท ให้ไปจัดเลย ระเบียบไม่ต้องดู วาระมาก็อนุมัติหมด แล้วเราจะบริหารราชการแผ่นดินทำไม รัฐมนตรีกีฬาจึงสั่งการให้ตนและคณะที่ปรึกษาหลายคน ดูความเหมาะสม งบประมาณถูกต้องไหม โดยเงินที่ใช้ทั้งหมด 2.2 พันล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 8-900 ล้านบาท ใน 4 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีเสริมศักดิ์ ก็ให้ตรวจสอบงบประมาณด้วย เพราะสงสัยในหลายเรื่อง คือ การเก็บตัวนักกีฬา, ค่าเตรียมการจัดแข่งขัน และค่าสารสนเทศ
นายจิรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ถ้าจัดต่อ เงินที่ต้องใช้ต่อไปอีกราว 1.5 พันล้านบาท ค่าจัดประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท, ค่าเก็บตัวนักกีฬา 2 งวด 250 ล้านบาท, ค่าส่งนักกีฬาแข่ง 70 ล้านบาท ค่าเหรียญรางวัลประมาณ 100 ล้านบาท
ที่ปรึกษารัฐมนตรีกีฬา กล่าวด้วยว่า การมาตั้งโจทย์ตอนนี้ มีปัจจัย 2 เงื่อนไขคือ เรื่องชนิดกีฬา ซึ่งหลังจาก นายเสริมศักดิ์ หารือโอซีเอ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในเรื่องงบประมาณ โอซีเอก็ให้ลดจำนวนกีฬา ลดลง 14 ชนิด จากเดิม 38 ชนิด เหลือ 24 ชนิด เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณางบประมาณ เพราะกรอบวงเงินเดิมพันกว่าล้านบาทตั้งบนพื้นฐานการจัด 38 กีฬา และเรื่องของจำนวนนักกีฬา จากงบฯ พันสามร้อยกว่าล้านนั้น วางไว้บนพื้นฐานนักกีฬา 1.4 หมื่นคน แต่จากการเช็กเอ็นทรีฟอร์มบายเนมล่าสุดวันที่ 17 ส.ค. เหลือ 1.9 พันคน
“แล้วจะปล่อยให้อนุมัติงบประมาณเหล่านี้ไปใช้จ่ายเช่นนี้หรือ ผมว่ามี 2 เงื่อนไขนี่ที่สำคัญ ท่านรัฐมนตรีจึงทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กกท. ขอความร่วมมือพิจารณาลดงบประมาณลงหน่อย”
เมื่อถามว่า การที่สั่งตรวจสอบการใช้งบประมาณ เป็นเหตุหลักที่โอซีเอตัดไม่ให้ไทยเป็นเจ้าภาพหรือไม่ นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่ตนคาด เหตุผลที่โอซีเอตัดสินใจ คือ 1 ระยะเวลาใกล้ชิด ก่อนจะอนุมัติงบประมาณ กับ 2 ปัจจัยจำนวนนักกีฬา ที่ถ้าจัดไปอาจเสียหายหรือไม่
“เราคาดไว้ 2 หน้าแล้ว ว่าถ้าจัดต่อแล้วเป็นอย่างไร ถ้ายกเลิกจะทำอย่างไร สัญญาที่เซ็นไม่มีเงื่อนไขว่ายกเลิกแล้วไทยจะถูกแบน มีหลายประเทศที่เคยยกเลิก เช่น เกาหลี, สิงคโปร์, เวียดนาม, จีน ทั้งจากงบประมาณ โควิด ยืนยันว่าไม่มีผลต่อการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ปลายปีหน้าแน่นอน ซึ่งเรารับเจ้าภาพแล้ว”
เมื่อถามว่าจะปลอบขวัญนักกีฬาที่ซ้อมมาแล้วอย่างไร นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า “วันนี้งบประมาณกระทรวง พร้อมสนับสนุนทั้งฐานราก และความเป็นเลิศ ส่วนที่นักกีฬาเก็บตัวมาเชื่อว่า ต้องแข่งขันกันเรื่อยๆ ซีเกมส์ปีหน้าก็ยังมี และยังมีรายการระดับโลก หรืออื่นๆ ที่พร้อมนำเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ไปสนับสนุนนักกีฬา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการแถลงข่าวของ กกท. เมื่อ 19 ส.ค. 67 ในเรื่องที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ตรวจสอบงบประมาณที่ใช้ไปก่อนหน้า 980 ล้านบาท มีงบประมาณการซ้อมนักกีฬาหลัก 100 ล้านบาท เพราะเลื่อนแข่งเป็นระยะๆ จากโควิด-19 การเก็บตัวนักกีฬาไม่เสียเปล่าแน่นอน เพราะมีประโยชน์กับนักกีฬา มีการประเมินความโปร่งใส มีคณะกรรมการติดตามการใช้งบประมาณเข้าไปตรวจสอบ ว่างบประมาณที่เบิกจ่ายถูกต้องตามวัตถุประสงค์ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงิน กกท. ทำตามระเบียบกฎหมายครบถ้วน ส่วนในเรื่องของการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว มีการใช้เงินต่างๆ อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ทั้งการประสานกับฝ่ายตรวจสอบภายใน กกท. และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ใช้งบประมาณเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องมาโดยตลอด.