เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 1 พ.ศ. 2567-2570 (แผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำฯ) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้แผนปฏิบัติการดังกล่าวเป็น “วาระแห่งชาติ”
สำหรับแผนปฏิบัติการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการเดือน ก.ค. 2567-ก.ย. 2570 ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณเห็นสมควรให้กรมประมงใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับการจัดสรร หรือพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณีตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการในโอกาสแรก
นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว และประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม สร้างความรู้และแรงจูงใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบ รวมทั้งจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัดและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็น ต้องขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขอให้กรมประมงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และขอให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและคุ้มค่า เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่เห็นชอบหลักการแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำ ตามข้อเสนอคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน งบประมาณ 100 ล้านบาท มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว งบประมาณ 50 ล้านบาท มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัว งบประมาณ 80 ล้านบาท
มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน งบประมาณ 10 ล้านบาท มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ งบประมาณ 10 ล้านบาท มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ งบประมาณ 100 ล้านบาท และมาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ ให้มีจำนวนสัตว์น้ำประจำถิ่น ที่ปล่อยลงในแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำประจำถิ่น ได้รับการฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 16 แห่ง งบประมาณ 100 ล้านบาท