พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ รอง ผอ.วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร วัดไร่ขิง กล่าวว่า มจร วัดไร่ขิง ได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบฐานข้อมูลการรายงานข้อมูล ตรวจติดตามและรายงานผลการประเมิน โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5“ ซึ่งทาง มจร วัดไร่ขิง ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในขณะนี้ คณะกรรมการบริหารกลาง และคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับหน โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 อยู่ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานหมู่บ้านรักษาศีล 5 และนำระบบฐานข้อมูลที่ทาง มจร วัดไร่ขิง พัฒนาขึ้นเป็นตัวช่วยในการรายงานข้อมูล เพื่อตรวจติดตามและรายงานผลการประเมิน ขณะที่แนวทางการประเมินหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในปี 2567 จะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ จากเดิมที่แต่ละจังหวัดเลือกมาเพียง 1 หมู่บ้าน แล้วกรรมการขับเคลื่อนระดับหนลงไปประเมิน แต่ในปีนี้ตามระเบียบมหาเถรสมาคม (มส.) ว่าด้วยการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 พ.ศ. 2565 คณะกรรมการขับเคลื่อนระดับตำบลจะทำงานร่วมกับทุกหมู่บ้าน ก่อนคัดเลือกส่งมาสู่ระดับอำเภอ จากนั้นระดับจังหวัดจะคัดเลือกเหลือเพียงจังหวัดละ 1 หมู่บ้านเพื่อรับการประเมิน

ด้านนายวีรพงษ์ พิชัยเสนาณรงค์ อาจารย์ประจำ มจร วัดไร่ขิง ในฐานะทีมพัฒนาระบบฐานข้อมูลหมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวว่า การพัฒนาเว็บไซต์ระบบรายงาน หมู่บ้านรักษาศีล 5 www.moobansila5.com ซึ่งระบบฐานข้อมูลนี้ มีประโยชน์หลายด้าน เช่น 1.สามารถเข้าถึงได้สะดวก และเป็นที่ประจักษ์จากคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต 2.ข้อมูลมีความปลอดภัย เนื่องจากข้อมูลรายงานศีล 5 เป็นข้อมูลที่มีการรายงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี การรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่น การเข้ารหัสข้อมูล การตรวจสอบสิทธิผู้ใช้ และการสำรองข้อมูล เพื่อป้องกันการสูญหายหรือการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.มีสถิติเชิงประจักษ์ ข้อมูลโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 สามารถนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ ภาครัฐ และประชานทั่วไป 4.ช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้กระดาษ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร หรือลดเวลาค้นหาข้อมูลในโครงการซึ่งมีเอกสารเป็นจำนวนมาก 5.ส่งเสริมให้คณะสงฆ์และประชาชนในชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้งานในชีวิตประจำวัน 6.ความยืดหยุ่นในการขยายระบบ การพัฒนาเว็บไซต์ระบบรายงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นช่องทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลของโครงการได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางด้านสาธารณสุขด้วย เช่น คนพิการ เด็ก คนแก่ กลุ่มเปราะบาง ด้วย