ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายระหว่างการพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานของกรรมการกิจการกระจายเสีง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2566 และรายงานติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผลปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช.  และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ปกติการพิจารณารายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาสู่วุฒิสภาส่วนใหญ่มีแต่รับรองแล้วผ่านไป เหมือนวุฒิสภาเป็นตรายาง ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ แต่หน่วยงานของ กสทช. จะให้ผ่านไม่ได้จริงๆ ด้วยเหตุผลคือ คณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ ถือเป็นชุดที่ 3 มีอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล กรรมการ กสทช.มี 7 ท่าน มาชี้แจงเพียง 6 ท่าน และทราบมาอีกว่า ประธานคณะกรรมการ กสทช. ไม่ได้แจ้งให้มาชี้แจง ทั้งที่ทุกท่านต้องมีอิสระในการทำงาน

นพ.เปรมศักดิ์ อภิปรายว่า ที่แปลกเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ประธาน กสทช. ไปชี้แจงที่สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีคณะกรรมการ กสทช.ไปชี้แจง ทราบว่าไม่ได้รับการแจ้งให้ไปชี้แจง ขณะเดียวกันคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) มากันครบและให้ข้อมูลเป็นประโยชน์มากถึงข้อสังเกตในการทำงาน โดยเฉพาะการควบรวมกิจการของโทรศัพท์ เมื่อเป็นเช่นนี้อยากให้ประธานวุฒิสภา ไปดูขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าที่พหลโยธินซอย 8 จะได้เห็นว่า การทำงานตรงนั้นเป็นองค์กรใหม่ก็จริง มี พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ตั้งแต่ปี 2553 แต่การเติบโตของกิจการในเครือข่ายนี้เติบโตมากจนน่ากลัว มีแต่ปัญหาผลประโยชน์ภายใน หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน ความจริงไม่มีอะไรซับซ้อน ปัญหามาจากคนหนึ่งขาดคุณสมบัติ อีกคนหนึ่งรักษาการมาเกือบ 4 ปี ตนไม่ได้พูดโดยอาศัยข้อมูลจากที่อื่น แต่เป็นข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเทคโนโลยี กิจการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งกรรมาธิการฯ ชุดที่แล้วสอบสวนไว้ดีมาก สืบสวนใช้เวลา 6 เดือน

นพ.เปรมศักดิ์ อภิปรายด้วยว่า หลังจากกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเสร็จแล้ว กลับมีหนังสือจากประธาน กสทช. โต้แย้งว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจวุฒิสภากำกับองค์กรอิสระ แต่ประธาน กสทช.โต้ว่าวุฒิสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ ขณะเดียวกันเลขาธิการวุฒิสภามีหนังสือตอบกลับว่า อำนาจของวุฒิสภาตรวจสอบองค์กรอิสระได้แน่นอน ตนถือว่าเป็นการท้าทาย ทำให้ประชาชนสับสนในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถ้าวุฒิสภาแตะองค์กรอิสระไม่ได้แล้วใครแตะต้องได้ ถ้าองค์กรอิสระกระทำผิด หรือบุคคลในองค์กรอิสระทำไม่ถูกกฎหมาย ใครจะแก้ไขได้

“กรรมาธิการฯ ชุดที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ว่าขาดคุณสมบัติหลายประการในข้อสรุปมี 95 หน้า ลงท้ายลงความเห็นว่า จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในขั้นพิจารณาของกรรมาธิการฯ ประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเห็นว่า นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ  พร้อมทำหนังสือตามขั้นตอนส่งไปยังประธานวุฒิสภาขณะนั้น ปรากฏว่าเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของวุฒิสภา ช่วงนั้นเกิดคำถามหลายอย่างทำให้ประธานวุฒิสภาไม่ได้เซ็นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอน เรื่องจึงมาตกที่ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไร ถ้าวุฒิสภาตรวจสอบไม่ได้ ประชาชนจะพึ่งใคร จึงขอเรียนประธานวุฒิสภาว่า ให้ดูเรื่องนี้ใหม่ว่าเรื่องมาถึงประธานวุฒิสภาหรือยัง ถ้าเห็นว่าผลการตรวจสอบมีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งได้แถลงนโยบายจะขจัดคอร์รัปชั่นจะทำในสิ่งที่เป็นความหวังของประชาชน ถือเป็นการดีว่าจะกล้าลงดาบอะไรหรือไม่ เพราะผลการสอบชัดเจนชัดยิ่งกว่าชัดไม่อยากให้คาราคาซัง” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อ ประธาน กสทช. ถูกกรรมาธิการฯ ตรวจสอบอย่างที่ตนอภิปรายว่า ท่านบกพร่องในส่วนนี้ จึงเป็นข้อเรียกร้องของตนในฐานะวุฒิสภาและเพื่อนวุฒิสภา ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้ และประธาน กสทช. ชอบโต้แย้งเสมอว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจแล้วใครจะตรวจสอบท่านได้ ท่านจะกลายเป็นคนที่แตะต้องได้อย่างนั้นหรือ พหลโยธินซอย 8 แทนที่จะเป็นแดนศิวิไลซ์ แต่กลายเป็นแดนสนธยา ตนจึงไม่สามารถรับรองรายงานของ กสทช. ได้.