นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการประจำศูนย์บัญชาการ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ยืนยันว่าสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ในหลายพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ลดระดับลงแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการบรรเทาทุกข์ เพื่อนำความช่วยเหลือต่างๆลงไปให้การดูแลผู้ประสบอุทกภัย ทั้งราษฎร และเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งมีแผนทั้ง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยศูนย์บัญชาการ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยทั้งล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ ผ่านกลไกที่มีอยู่ให้ไปถึงในระดับพื้นที่ พร้อมการจัดเตรียมเผชิญเหตุ การเข้าช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงทีอีกด้วย      

ส่วนกรณีที่ยังมีข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่าแม่น้ำปายล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่บ้านทุ่งกองมู บ้านปางหมู บ้านสบป่อง บ้านสบสอย บ้านท่าโป่งแดง บ้านห้วยเดื่อ และทางหลวงสาย 128 รวมทั้งให้เฝ้าระวังฝนตกในพื้นที่อำเภออื่น เช่น แม่ลาน้อยและสบเมย ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการสำรวจพบว่าพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าวสภาพน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรได้ลดลงแล้ว ซึ่งจังหวัดได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือ ส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำปาย ยังคงทรงตัว เนื่องจากยังมีฝนตกทางตอนเหนือของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบว่าลำน้ำปาย บางส่วนเริ่มตื้นเขิน ซึ่งแผนระยะยาว ทางจังหวัดจะได้มีการเร่งขุดลอกลำน้ำปาย ในจุดที่ผ่านชุมชนและเป็นปัญหาต่อไป         

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่อ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแผนในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ โดยเมื่อเกิดฝนตกหนักสะสมภายใน 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 40 มิลลิเมตรขึ้นไป ให้ศูนย์บัญชาการ วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะแจ้งเตือนศูนย์ฯ อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการณ์ฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่ได้จัดทำไว้ และเมื่อเกิดฝนตกหนัก สะสม 24 ชั่วโมง เกิน 70 มิลลิเมตร ให้ชุดปฏิบัติการในระดับต่าง ๆ เข้าพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน พร้อมอพยพ ตามแผนฯ           

ส่วนระยะสั้น จะเร่งให้ทุกพื้นที่จัดทำเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแบบง่าย โดยให้อำเภอประสาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ ทุกหมู่บ้าน หากมีข้อมูลข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์ (Fake News) หรือการกระทำที่เข้าข่ายความผิดให้อำเภอ ประสานฝ่ายบังคับใช้กฎหมายดำเนินการตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันการสร้างความสับสนให้กับประชาชนในพื้นที่เกิดการตื่นตระหนก และหากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยในพื้นที่ ให้อำเภอแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ดำเนินการเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และสิ่งของที่จำเป็นในยามฉุกเฉิน อย่างน้อยให้เพียงพอตลอด 72 ชั่วโมงแรก ก่อนที่หน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกพื้นที่จะเข้าช่วยเหลือ          

นอกจากนั้น ยังได้จัดเตรียมระบบการสื่อสารข้อมูลในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัย ให้ประชาชนรับทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่รวดเร็วเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อสื่อให้ประชาชน รับรู้รับทราบ ถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ให้ความช่วยประชาชนที่รอรับการช่วยเหลือ  และให้ทุกอำเภอ ขอรับการช่วยเหลือ ผ่านระบบแอปพลิเคชัน พ้นภัย : PhonPhai โดยความร่วมมือจากสภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายอีกกว่า 19 หน่วยงาน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดสาธารณภัยในพื้นที่ โดยให้รายงานลงในระบบภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเกิดภัย