นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า หลังจากที่ กยท. ได้เข้าไปบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ โดยมีวงเงินในการรับซื้อและเป็นค่าบริหารจัดการเพื่อรวบรวมปลาหมอคางดำจากเกษตรกร ชาวประมง และประชาชนทั่วไป รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท (ราคารับซื้อ 15 บาท/กิโลกรัม) ดำเนินการรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้น โดยปัจจุบัน กยท. ได้ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำแล้วทั้งหมด 600,000 กิโลกรัม ซึ่ง กยท. ได้ส่งปลาหมอคางดำสู่กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 178,039 กิโลกรัม และสถาบันเกษตรกรรับไปดำเนินการผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ จำนวน 421,961 กิโลกรัม ทั้งนี้ หลังผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพเสร็จเรียบร้อย กยท. จะนำน้ำหมักชีวภาพไปมอบให้กับเกษตรกรชาวสวนยางนำไปใช้ในสวนยางต่อไป

“ตอนนี้ กยท. อยู่ระหว่างการทบทวนและพิจารณางบประมาณ ตลอดจนแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาปลาหมอคางดำให้สำเร็จต่อไป เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากกรมประมงว่า มีบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามาดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำในบางพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดแล้ว”