แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่านร่วมกันอธิบายถึงสาเหตุหลายประการที่ทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนล้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องที่อาจคาดไม่ถึง

การไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่, มีความเครียดตลอดเวลาและไม่ได้รับประทานอาหารที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้ร่างกายมนุษย์รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อยง่าย แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจโดนมองข้ามไปที่ส่งผลกระทบต่อความอ่อนล้าของร่างกายได้อย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยจนเกินไปในแต่ละวัน

1. ไม่ออกกำลังกาย แม้ว่าการออกกำลังกายหนัก ๆ จะทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่การไม่ออกกำลังกายหรือทำน้อยเกินไปก็ทำให้เราเหนื่อยล้าได้ ดร. รอสส์ เพอร์รี แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของคลินิกผิวหนัง Cosmedics กล่าวว่า ถ้าหากเราไม่ออกกำลังกายหรือไม่มีการใช้กล้ามเนื้อ อาจทำให้ระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูกและระบบหัวใจและหลอดเลือดของร่างกายเสื่อมถอย ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกอ่อนล้าและหดหู่ได้

2. วางท่าทาง (Posture) ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม การนั่งแบบนี้จะลดปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปทั่วร่างกายให้น้อยลง ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหนื่อยและหมดแรง นอกจากนี้ กล้ามเนื้อส่วนหลังที่ไม่แข็งแรงจะทำให้รู้สึกปวดหลังและเหนื่อยล้า

3. รับประทาน “แป้ง” หรือคาร์โบไฮเดรตมากไป ความจริงแล้วควรรับประทานอาหารประเภทแป้ง, ไขมันและโปรตีนในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน

4. มีเซ็กซ์น้อยเกินไป สำหรับข้อนี้ แมตต์ เดอร์กิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและโภชนาการจาก SCI-MX อธิบายว่าฮอร์โมนบางตัว เช่น โพรแลกตินและออกซิโทซิน จะถูกหลั่งออกมาในระหว่างมีเซ็กซ์ ฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยทำให้เรานอนหลับสบายและหายจากอาการเหนื่อยล้า

5. นั่งนานเกินไป การทำงานแบบนั่งโต๊ะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหนื่อยล้า เดอร์กินอธิบายว่าการนั่งนาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อท่าทางการนั่ง (Posture) รวมถึงระบบเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย

6. ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน รวมถึงขนมหวาน, ขนมปัง, เค้ก หรืออื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นพลังงานเป็นการชั่วคราว แต่พลังงานเหล่านี้จะอยู่ได้ไม่นาน ขณะเดียวกันกลับทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อขนมหรือเครื่องดื่มเหล่านี้ย่อยหมด ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนล้า

7. ดื่มกาแฟมากเกินไป แอนดี ดาลี นักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กาแฟก็คล้ายน้ำอัดลม มันกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ทำให้ร่างกายเพิ่มพลังงานได้ชั่วคราว แต่ในระยะยาวจะทำให้ต่อมหมวกไตอ่อนล้าซึ่งส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้าและหมดแรงในที่สุด

8. ละเลยการกินอาหารที่ดีต่อลำไส้ รูธ เจมิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนจาก ARVRA อธิบายว่า การขาดสมดุลในจุลินทรีย์ในลำไส้, ความบกพร่องด้านการดูดซึมสารอาหารของลำไส้ หรือความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร อาจทำให้การดูดซึมสารอาหารลดลง ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างพลังงาน ด้วยเหตุนี้จึงต้องรับประทานผักและผลไม้ให้เพียงพอในแต่ละวันด้วย 

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES