น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ดำเนินการคัดเลือกอาหารถิ่นประจำจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติที่หายไป The Lost Taste) ประจำปี 2567 โดยแต่ละจังหวัด มีคณะกรรมการประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนที่เป็นประธาน เพื่อดำเนินการคัดเลือก รวมทั้งเปิดให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดร่วมโหวตเมนูที่ควรได้รับการคัดเลือกในจังหวัดตนเองพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-9 ส.ค. 67 ที่ผ่านมานั้น

รมว.วธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ประจำปี 2567 มีเมนูอาหารที่ให้ประชาชนร่วมโหวตทั่วประเทศ 563 รายการ แบ่งเป็นเมนูอาหารคาว 234 รายการ เมนูอาหารหวาน 184 รายการ เมนูอาหารว่าง 143 รายการ และเมนูอาหารอื่น 2 รายการ ทั้งนี้ ประชาชนได้มีส่วนร่วมโหวตคัดเลือกผ่านสื่อท้องถิ่น สื่อออนไลน์ต่างๆ ทุกช่องทาง ซึ่งแต่ละเมนูมีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน เช่น เมนูอาหารหวานจาก จ.ปราจีนบุรี “ขนมหน่อไม้” ได้รับความสนใจและมีการโหวตสูงสุดถึง 22,945 คะแนน รองลงมาได้แก่ เมนูอาหารหวาน “ขนมถังแตกมอญ” จาก จ.กาญจนบุรี 4,660 คะแนน และ เมนูอาหารคาว “ปลายอก ข้าวบอก” จาก จ.กระบี่ 4,259 คะแนน นอกจากนี้ยังมีเมนูที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” จาก กทม. , “กะละแมรวงข้าวเม็ดบัว” จาก จ.ปทุมธานี “ยำไก่ผีปู่ย่า” จาก จ.สุโขทัย, “แกงอีเหี่ยว”จาก จ.เพชรบูรณ์ และ “แกงคั่วหนามพุงดอหมูย่าง” จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์, “ข้าวมัน แกงตอแมะห์ปลา” จาก จ.สตูล “น้ำพริกหมู (โคราช)” จาก จ.นครราชสีมา, “นมเนียล” จาก จ.สุรินทร์ เป็นต้น

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาหารไทยและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับอาหารถิ่นของไทย พร้อมทั้งต่อยอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและสรรพคุณทางเลือกที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรมทั่วประเทศ ในการคัดสรรเมนูอาหารถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และมีรสชาติที่โดดเด่น ซึ่งมีหลายเมนูที่หลายคนอาจยังไม่เคยลิ้มลอง อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาหารถิ่นไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ตลอดจนยกระดับอัตลักษณ์อาหารไทยในเวทีสากลด้วย กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์อาหารถิ่นไทย แต่ยังส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยอดเยี่ยม และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตามรอยและลิ้มรสอาหารถิ่นที่มีความพิเศษจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อเมนูอาหารถิ่น พร้อมร้านจำหน่ายได้ที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Facebook สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ