ต่างด้าว”รุกคืบลงทุนในธุรกิจสินค้า กิจการ หรือกระทั่งครอบครองอสังหาริมทรัพย์ กำลังกลายกระแสถกเถียง โดยเฉพาะข้อห่วงใยด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง

ขณะอีกมุมที่ยังไม่รู้กันมากนัก “ทนายความ”ซึ่งเป็นอาชีพสงวนของคนไทยก็กำลังถูกทนายต่างด้าวคืบคลานเข้ามาเช่นกัน

ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามสถานการณ์เรื่องนี้กับ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า หลังสภาทนายความจัดเสวนา เรื่องทนายต่างด้าวที่เข้ามาทํางานในเมืองไทย โดยเชิญตัวแทนหลายหน่วยงานเข้าร่วม ทำให้พบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่สภาทนายความเองติดตามการ“เพิ่ม”ขึ้นของทนายความต่างด้าวมาตลอด ปัจจุบันมีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะญี่ปุ่น หรือจีน

สาเหตุมาจากภาวะการลงทุนทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ต้องการให้มีนักกฎหมายเข้ามาดูแล แต่ช่วงหลังบริษัทต่างชาติเหล่านี้ใช้ทนายความของประเทศตัวเองเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ทั้งที่อาชีพที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความ เป็นอาชีพสงวนสําหรับไว้ให้คนไทยเท่านั้น ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

เมื่อสถานการณ์การลงทุนมันมากขึ้น ความต้องการจ้างทนายความเข้ามาดูแลก็มากขึ้นตาม หากให้ถูกต้องไม่ว่าจะมาจากชาติใด แต่ถ้าจะทำธุรกิจธุรกรรมใดในประเทศไทยก็ต้องให้คนไทยทำงานในส่วนที่ปรึกษากฎหมาย แล้วค่อยหาล่ามแปล หรือการจัดการใดๆก็ตาม โดยส่วนใหญ่เป็นกฏหมายระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน เป็นกฎหมายในเชิงธุรกิจไม่ใช่กฎหมายอาญาที่ต้องไปขึ้นศาล จึงไม่จำเป็นเข้าใจกฎหมายในประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง ทำให้มีคนต่างชาติเข้ามาทำแทนที่”

นอกจากนี้ ยังมักไม่ได้เข้าประเทศถูกต้องตามขั้นตอน บางคนเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว หรืออ้างว่าเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ แต่เมื่อทํางานจริง กลับทำหน้าที่ในส่วนที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนใหญ่เลยมาเปิดบริษัทสํานักกฎหมายและใช้คนไทยเป็นนอมินี อาศัยช่องว่างกฎหมายที่ให้คนไทยถือหุ้น 51% ชาวต่างชาติถือหุ้น 49% แต่อํานาจในการบริหารการจัดการอยู่กับผู้ลงทุน หรือทนายความจากจีน หรือญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม สภาทนายความไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 คําว่า ทนายความในคํานิยามของกฎหมาย หมายถึง ทนายความที่เข้าไปทําหน้าที่ในศาล ไม่ว่าจะเป็นการแต่งคำฟ้อง เขียนคำฟ้อง เขียนอุทธรณ์เขียนฎีกา การเขียนคําร้อง คําขอ คําแถลงต่างๆ ไม่รวมถึงที่ปรึกษากฎหมาย ทำให้ในฐานะสภาทนายความ ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะไปเอาผิดกับบุคคลเหล่านั้นได้

แต่สภาทนายความสามารถที่เป็นผู้กล่าวหา อธิบายง่ายๆ คือเราสามารถกล่าวหาโดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจดําเนินการทางกฎหมายได้ เพราะว่าบุคคลต่างด้าวเหล่านั้นเข้ามาทํางาน มีความผิดตามพ...การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ..2560”

ทั้งนี้ โดยเฉพาะมาตรา 8 ที่ระบุ คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ โดยที่ปรึกษากฎหมายเป็นอาชีพต้องห้ามที่รัฐไม่สามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทํางานในส่วนนี้ได้

ดังนั้น ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นทนายความ หรือคนธรรมดาที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายเข้ามาทําหน้าที่ในการให้คําปรึกษาทางด้านกฎหมาย ถือว่ามีความผิด

นายกสภาทนายความ ย้ำว่า ประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐจําเป็นต้องเร่งดําเนินการ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า เฉพาะคนจีนที่เข้ามาทำงานและลงทุนในประเทศก็มีเป็นจำนวนมาก หากปล่อยไว้ไม่ดําเนินการทางใดทางหนึ่ง หรือปล่อยปะละเลยให้เป็นแบบนี้ อีกไม่นานคิดว่าอาชีพสงวนสําหรับคนไทยในหลายๆอาชีพจะมีอันเป็นไปในทางไม่ดี รวมทั้งอาชีพของที่ปรึกษากฎหมาย หรือทนายความด้วย

พร้อมสะท้อนมุมมองส่วนตัวเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจในประเทศด้วย อย่างเม็ดเงินจากการจ้างงานทนายความที่คนไทยควรได้ เพราะเท่าที่ทราบต่างด้าวที่เป็นทนายความ มาให้คําปรึกษาทางด้านกฎหมายกับคนประเทศต้นทางที่จะมาลงในไทย และนักลงทุนของไทยเองที่ต้องจะไปทำธุรกิจบ้านเขา โครงการหนึ่งจะได้รายได้ทั้งสองทางเลย

ที่น่าเป็นกังวลเมื่อการที่คนต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ อาจมีการเอาเปรียบคนไทยและประเทศไทย เพื่อกอบโกยเงินไปประเทศต้นทาง อาจทำให้เสียเอกราชได้หากให้ต่างชาติเข้ามาเป็นที่ปรึกษากฎหมาย เพราะส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะทนายความเท่านั้น แต่โยงไปหลายอย่างทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคมด้วย”

นายกสภาทนายความ ทิ้งท้าย โดยยกตัวอย่างเหมือนสมัยวิกฤติต้มยํากุ้ง มีต่างชาติเข้ามาที่ปรึกษากฎหมายให้กับบางหน่วยงาน สถาบันการเงิน จนต้องล้มละลายไปแบบเงินออกนอกประเทศ โดยที่รัฐบาลไทยไม่ได้อะไรเลย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน