เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสายพันธุ์ฝีดาษลิง ภายในงานสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ว่า ฝีดาษลิง (Mpox หรือ Monkeypox) มีสายพันธุ์ เคลด 1(Clade 1) เคลด 2 (Clade 2) โดยเคลด 1 มีอัตราการเสียชีวิต 10% แต่ที่ระบาดขณะนี้ไม่ใช่เคลด 1 แต่ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มาเป็นเคลด 1บี (Clade 1b) อัตราการเสียชีวิต 1% แต่ติดต่อง่ายกว่า ปี 2565 ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เคลด 2บี ซึ่งไม่รุนแรงเหมือนกัน โดยประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เคลด 2บี
“เฉพาะสาธารณรัฐคองโก มีคนติดเชื้อเคลด 1 บี ประมาณ 18,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 กว่าคน ที่น่าตกใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น อยู่บ้านเดียวกัน เด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง ไอจาม ซึ่งข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ต้องย้ำว่าไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า การปรับตัวของฝีดาษลิงไม่เหมือนโรคโควิด-19 เนื่องจากฝีดาษลิง ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่า เพราะอะไร แต่ไวรัสพยายามแทรกเข้ามาตัวโฮสที่เป็นมนุษย์ แต่ยังไม่อยากให้กังวล เพราะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทยมีระบบเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ประชาชน โดยโรคฝีดาษลิง มีระยะฟักตัว 22 วัน ดังนั้น หากคนไทยเดินทางไปประเทศเสี่ยงก็ต้องสื่อสารให้ทราบว่า เมื่อเดินทางกลับมาขอให้สังเกตตนเอง หากมีอาการคล้ายไข้หวัด มีผื่นขึ้นตามตัว ต้องรีบพบแพทย์ ซึ่งมีระบบรายงานข้อมูลจากสถานพยาบาลไปกรมควบคุมโรค และปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคแล้ว โดยสภากาชาดไทยนำเข้ามา แต่มีค่าใช้จ่าย สามารถฉีดก่อนและหลังเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงได้ ทั้งนี้หากสัมผัสเชื้อแล้ว จะฉีดป้องกันความรุนแรงได้ 68%-80%
เมื่อถามว่าสายพันธุ์ เคลด 1 บี มีความเสี่ยงเข้ามาไทยได้หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะตอนนี้ไม่มีนโยบายกักตัว แต่เป็นการควบคุมดูแล ซักประวัติ ซึ่งกรมควบคุมโรค มีระบบในการเฝ้าระวังที่มีศักยภาพ สามารถตรวจจับได้หากพบสายพันธุ์ใหม่ มีการตรวจหาสายพันธุ์ในผู้ป่วยที่มาอาการเข้าข่ายน่าสงสัย โดยตรวจในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีความปลอดภัยในการตรวจสูง โดยห้องจะถูกออกแบบมาพิเศษขึ้นอีกระดับ เป็นระบบป้องกันไม่ให้อากาศภายในที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก
“ขอย้ำว่า หากหลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง โดยเฉพาะฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1b ในประเทศแถบแอฟริกาหรือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ขอให้หลีกเลี่ยงไปก่อน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศเสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากมีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลด 1บี สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ หากมีความจำเป็นต้องเดินทาง ขอให้ป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของไวรัส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของฝีดาษลิง เช่น หนูและลิง หรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆ” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว.