สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ว่า ดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (อีพีไอ) ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยเยล จัดอันดับประเทศต่าง ๆ ตามมาตรฐานสุขาภิบาลและน้ำ โดยพิจารณาจากผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น จากการสัมผัสกับสุขาภิบาลและน้ำดื่มที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ที่นำไปสู่โรคอุจจาระร่วง

รายงานระบุว่า สิงคโปร์มีการเข้าถึงสุขาภิบาลที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง และเป็นผู้นำระดับโลกในการบำบัด และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการบูรณาการเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

สำหรับการจัดอันดับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขาภิบาลของแต่ละประเทศ จะได้รับคะแนนโดยอ้างอิงจากสูตรคำนวณ “การสูญเสียสุขภาพ” ในช่วงเวลา 1 ปี หรือที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เรียกว่า “การสูญเสียปีสุขภาวะ” ซึ่งคะแนนสูงสุด “100 คะแนน” หมายถึงมีการสูญเสียสุขภาพน้อยที่สุดในโลก ส่วนคะแนนต่ำสุด “0 คะแนน” บ่งชี้ถึงการสูญเสียสุขภาพมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 1 ในรายงานอีพีไอประจำปีนี้ โดยมีคะแนนสูงถึง 99.9 คะแนน แซงหน้าอิตาลี กับสหราชอาณาจักร ที่ได้ 98.2 คะแนนเท่ากัน ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี ซึ่งมี 98.0 และ 97.9 คะแนน ตามลำดับ

ส่วนประเทศที่อยู่ในอันดับท้าย ๆ ในรายงานอีพีไอ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น มาดากัสการ์, ไนเจอร์, เลโซโท, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (ซีเออาร์) และชาด ซึ่งมี 12.9, 12.2, 9.4, 8.9 และ 4.3 คะแนน ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 100 จากทั้งหมด 180 ประเทศ โดยมีคะแนนอยู่ที่ 51.2 คะแนน

อนึ่ง รายงานระบุว่า น้ำดื่มสะอาด หมายถึงการเข้าถึง, ความพร้อม และคุณภาพของน้ำที่ครอบครัวใช้เพื่อสุขภาพ และความต้องการในครัวเรือนในแต่ละวัน ซึ่งแหล่งน้ำที่เหมาะสมต้องเข้าถึงได้ง่าย และไม่มีแนวโน้มของการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนจากสิ่งปฏิกูล.

เครดิตภาพ : AFP