จากกรณีเหตุการณ์กลุ่มนักศึกษารุ่นพี่ มหาวิทยาลัยชื่อดัง รุมทำร้ายผู้ปกครองและนักศึกษารุ่นน้องในสถานศึกษา หลังจากฝ่ายผู้ปกครองต้องการย้ายลูกหลานไปเรียนที่อื่น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ว่าทำไมจึงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ การก่อเหตุกระทำต่อหน้า ครู-อาจารย์ ซึ่งก็ไม่สามารถห้ามปรามลูกศิษย์ได้เช่นกันนั้น
-‘กัน จอมพลัง’ พา 2 พ่อลูกชี้จุดรุ่นพี่รุมตื้บ ลั่นเถื่อนเหมือนแก๊งอาชญากร

แต่ล่าสุดเรื่องราวดังกล่าวได้รับความสนใจพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ไกลถึงประเทศจีน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. แฟนเพจชื่อดังที่มักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนอย่าง “อ้ายจง” ได้ออกมาระบุว่า “ชาวเน็ตจีนเดือดมากกับประเด็น “รับน้องโหด” เผาขนในที่ลับของรุ่นน้องในไทย / พร้อมใจกันประณามว่าเป็นการกระทำที่แย่มาก และการกลั่นแกล้ง-ทำร้ายในโรงเรียนควรหมดไป / ตั้งคำถามถึงทางสถาบัน “ทำไมถึงจัดการไม่ได้?” / ขึ้นเทรนด์ฮิต Weibo โซเชียลจีนแล้ว”

นอกจากนี้ ทางเพจยังเผยข้อมูลเพิ่มด้วยว่า ตอนนี้ที่ไทยมีข่าวที่กำลังได้รับการจับตามองอย่างมากคือ การรับน้องโหดของรุ่นพี่มหาวิทยาลัยในนนทบุรี และมีลักษณะการรวมตัวเป็นองค์กรขนาดย่อมที่ส่งเสริมค่านิยมรับน้องเช่นนี้จากรุ่นสู่รุ่น “ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ไทยที่ให้ความสนใจ แต่ยังคงขึ้นเทรนด์ฮิตในโซเชียลจีน ถกกันเป็นวงกว้าง หลายคนคงสงสัยว่า “ทำไมจีนมาสนใจ?” ก็เลยขอเขียนโพสต์นี้เพื่อเล่าให้ทราบครับ”

แต่ก่อนอื่น ขอสรุปความคิดเห็นของคนจีนบน Weibo จากระบบ AI ให้พวกเราได้ทราบมุมมองของเขากัน เหตุการณ์การกลั่นแกล้งในมหาวิทยาลัยไทยที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่อออนไลน์ ได้สร้างความตื่นตระหนกและโกรธเคืองในสังคมจีนอย่างมาก ชาวเน็ตจำนวนมากแสดงความตกใจและความกังวลต่อวิธีการที่โหดร้ายและรุนแรงที่ถูกใช้ในการกลั่นแกล้ง

“พวกเขามองว่านี่ไม่ใช่แค่เหตุการณ์เล็กๆ แต่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในสถาบันการศึกษาที่ควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน” ชาวเน็ตจีนได้เรียกร้องให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงและเด็ดขาด พวกเขามองว่าการกลั่นแกล้งในสถานศึกษาไม่ควรได้รับการยอมรับในทุกกรณี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศใด

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องสิทธิของเหยื่อและสร้างความมั่นใจว่าการกระทำผิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต และหลายคนเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายที่เข้มงวด ไม่ควรผ่อนปรนเพียงเพราะเป็นนักเรียนนักศึกษา หากอายุถึงเกณฑ์การลงโทษตามกฎหมายอาญาก็ควรดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อป้องกันการขยายตัวของการกลั่นแกล้งในสถานศึกษา โดยควรมีกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมในสถาบันการศึกษาเลย (ตอนนี้จีนมี แต่ที่ไทยผมไม่แน่ใจ) “คนจีนยังมองว่า ผลกระทบทางจิตใจจากการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องที่รุนแรง จำเป็นต้องมีการลงโทษทางกฎหมายต่อผู้กระทำ” ขณะที่อีกไม่น้อย ตั้งข้อสังเกตว่า “เหตุการณ์อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่รุนแรงมากขึ้น และทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบกฎหมายในประเทศไทย”

มาดูสาเหตุกันบ้างทำไมจีนอินขนาดนี้?
…เพราะปัญหา Bully การรังแกและการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน-สถาบันการศึกษา เป็น 1 ในปัญหารุนแรงที่จีนเผชิญและพยายามแก้มาตลอด / คนจีนจึง ‘อิน’ กับเหตุการณ์ในไทย และหลายคนระบุ ไม่คิดว่าที่ไทยก็หนัก (เหมือนจีน) … จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหา Bullying หรือการกลั่นแกล้งในโรงเรียนอย่างหนัก ดังที่มีกรณีเด็กเสียชีวิต ทั้งเกิดจากฆ่าตัวตาย หรือจากการทำร้าย โดยการกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน จำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับการ Bullying ในจีน ก็มีให้เห็นหลายรูปแบบไม่ว่าจะการล้อเลียน-ล้อปมด้อย เช่น รูปร่างหน้าตา, การทำให้อับอายในที่สาธารณะ, การทำลายข้าวของส่วนตัว, การทำร้ายร่างกาย และการด่าทอบนโลก Internet เคยมีการเผยจากศาลจีนว่า ในแต่ละปีมีคดีความที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนหลายร้อยคดี อย่างในปี 2017 มีประมาณ 800 คดี และนับตั้งแต่ช้วงปีนั้นจีนก็เริ่มเอาจริงกับการแก้ปัญหา Bully และเริ่มมีการรายงานว่า “จำนวนคดี ลดลง”

โดยปี 2017 ปีนั้นเอง คู่มือสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อรับมือและป้องกันการกลั่นแกล้งรวมถึงการทำให้อับอายทางโลกไซเบอร์ ขนาดความยาว 4,000 ตัวอักษรจีน ที่จัดทำโดยโรงเรียนซ่างไฮ่ซ่างหนาน โรงเรียนมัธยมในมหานครเซี่ยงไฮ้ โรงเรียนนำร่องที่ขานรับนโยบายป้องกันการ Bully ระดับชาติจีน ถือเป็นคู่มือเล่มแรกของจีน ที่ตีพิมพ์ออกมาเพื่อแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งและทำให้อับอายบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของวัยรุ่นจีน

และหลังจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเรื่องจากทางการจีน ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ท่ามกลางปัญหาการกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียนที่ยังคงมี อย่างยิ่งบนไซเบอร์ อย่างปี 2018 รัฐบาลมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ได้ออกกฎระเบียบควบคุมโรงเรียนในมณฑลกว่างตง เพื่อรับมือปัญหา Bullying ด้วยการออกกฎ “หากเกิดเหตุการกลั่นแกล้งและทำร้ายกันในโรงเรียน ทางโรงเรียนนั้นจะต้องดำเนินการสืบสวนเพื่อค้นหาความจริง รวมถึงจัดการต่อเด็กที่กระทำผิดอย่างเร่งด่วนภายในระยะเวลา 10 วัน มิเช่นนั้นโรงเรียนจะโดนลงโทษ”

ปัจจุบันทางการจีนได้กระตุ้นให้แต่ละโรงเรียนออกกฎคุมการกลั่นแกล้งในโรงเรียน 1 ในคดีที่สะเทือนใจอย่างมากคดีหนึ่ง คือ “คุณพ่อชาวจีนในมณฑลเจียงซี แค้นที่ลูกสาววัยประถมต้น ถูกเพื่อนแกล้งทุกวัน พยายามเคลียร์กับผู้ปกครองของอีกฝั่ง ก็ไม่ยอมมาเคลียร์ตามนัด สุดท้ายจึงบันดาลโทสะด้วยการเอามีดแทงเด็กนักเรียนประถมที่เป็นคนแกล้งลูกสาวของตน จนเสียชีวิต ซึ่งท้ายที่สุด ชายชาวจีนคนนี้ถูกศาลจีนตัดสินประหารชีวิต”

“เรื่องราวสุดสะเทือนใจข้างต้น ไม่ได้มีแค่เรื่องเดียว แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในจีน จึงเกิดกระแส “ต่อต้าน-ป้องกัน และลดปัญหา Bullyingในชั้นเรียน” โดยทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขเรื่องนี้”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @อ้ายจง