แม้เปลี่ยน “ชื่อ” ถือเคล็ดเสริมดวงชะตาเพิ่ม “ช.ช้าง” ไปหมาดๆ แต่ไม่อาจรอด “วิบากกรรม” ที่ยังต้องเผชิญ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล พ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร. ด้วยเหตุถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 67

ข้างต้นนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนหลังจากที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) วินิจฉัย “ปมร้อน” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ที่ถูก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เมื่อครั้งรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ลงนามคำสั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” โดย ก.พ.ต.ตร. วินิจฉัยว่า คำสั่ง ตร.ที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 67 เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และ กฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสม เป็นคำสั่งที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นอันว่าขณะนี้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ต้องหลุดจากวงโคจรรั้วปทุมวันชั่วคราวไปก่อน แต่คำถามที่เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ต่อจากขั้นตอนนี้คือ แล้วเส้นทางสีกากีของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จากนี้ถือว่าจบสิ้นแล้วหรือไม่???

“ทีมข่าวเดลินิวส์” มีโอกาสพูดคุย สอบถามมุมมองในประเด็นนี้จากอดีตบิ๊กเนมสีกากี ซึ่งสะท้อนความเห็นถึงสถานะ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ณ ขณะนี้ว่า เนื่องจากไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจ ไม่มีสถานะเป็น รอง ผบ.ตร. นั่นเท่ากับไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็น “แคนดิเดต” ในการที่นายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อแต่งตั้งเป็น “ผบ.ตร.” วาระการแต่งตั้ง วันที่ 2 เดือน ต.ค. ปีนี้

อย่างไรก็ตามหาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร. ก็ยังสามารถใช้ช่องทางฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ และหากศาลมีคำวินิจฉัยเช่นไรก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น

แต่หากถามว่าในอนาคตเส้นทางของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแล้วจะกลับเข้ารับราชการตํารวจได้อีกหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องดูว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครอง “เป็นคุณ” ต่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หรือไม่ เพราะหากเป็นคุณ ต้องมีการแจ้งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จึงจะได้กลับมาเป็น รอง ผบ.ตร. และมีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 67 ในทางกลับกัน หากไม่เป็นคุณ ก็ยึดตามคำสั่งเดิม

แต่…ที่ชี้ชะตาอนาคต พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ที่แท้จริง คือ ผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัย ที่มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะ ว่าจะออกมาในทิศทางใด

หากพบว่า “ผิด” วินัยร้ายแรงก็ดำเนินการปลดออก ไล่ออก ตามขั้นตอน แต่หาก “ไม่ผิด” ก็ยุติการสอบสวน และต้องสั่งยุติคำสั่งก่อนหน้านี้ และเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กลับเข้ามารับราชการ ซึ่งคำสั่งที่ออกจากราชการไว้ก่อน ที่มีการสู้กันในศาลปกครองชั้นสูงสุดจะถือว่าจบสิ้นทันที และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะคำตัดสินจริงๆ ที่จะให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการคือ การสอบสวนจากวินัย หากคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน มีคำสั่งว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ผิดวินัยจริง นั่นหมายความว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องออกจากราชการเลย

จากนั้น พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็ต้องไปร้องอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ก.พ.ค.ตร. ก็ต้องพิจารณา และหากวินิจฉัยว่าไม่เป็นคุณ ทาง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นเรื่องของการใช้สิทธิในการต่อสู้คำสั่งที่ให้ออกจากราชการจริง ส่วนขณะนี้ที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการนั้นคือ คำสั่งให้ออกจากราชการชั่วคราว

ดังนั้นสิ่งที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ต้องตั้งสติและลุ้นคือการปลดชนักที่ติดหลัง ส่วนจะใช้เวลานานมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนกระบวนการ ทำทุกทางให้คำสั่งเป็นคุณกับตนเองมากที่สุด และไม่ให้ออกจากราชการ เพื่อโอกาสกลับสู่เส้นทางสีกากี หรือไม่จะได้เบนเข็มไปทำงานด้านอื่นที่ไม่ได้รับราชการตำรวจ เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง และเพื่อเป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรีตัวเองให้คืนกลับมา.