ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก โรงเรียนตากพิทยาคม จังหวัดตาก ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนา Symposium หลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” สู่ Soft Power ซึ่งจัดเพื่อให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดตาก โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 คน ประกอบด้วยผู้บริหารการศึกษา ครู และนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนในเขตพื้นที่
นายสุทัศน์ ศรีดาเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก (ผอ.สพม.ตาก) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” ให้สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยบูรณาการหลักสูตรท้องถิ่นตามกรอบ 5 รักษ์ ได้แก่ รักษ์สุขภาพ, รักษ์ภาษา, รักษ์วัฒนธรรม, รักษ์อาชีพ และรักษ์โลก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และเตรียมความพร้อมด้านทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น
ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า ความสำคัญของการใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning ในหลักสูตรนี้ โดยหลักสูตรท้องถิ่น 5 รักษ์ ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ แต่ยังปลูกฝังทักษะชีวิตที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังเน้นถึงการเชื่อมโยง Soft Power เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภายในงานมีนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก จำนวน 21 โรงเรียน และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก รวม ทั้งหมด 22 โรงเรียน มีหลักสูตรการเรียนรู้ที่บูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตของท้องถิ่น เช่น รักษ์สุขภาพ : รายวิชามวยไทยเพื่อสุขภาพจากโรงเรียนวังประจบวิทยาคม, รักษ์ภาษา : ภาษาเมียนมาเพื่อการท่องเที่ยว โรงเรียนพบพระวิทยาคม, รักษ์วัฒนธรรม : รายวิชา โมโกรบ้านฉัน “น้ำพริกคอมมิวนิสต์” และ “ลาขุกี้จือ” สิงหาแห่งการมัดมือเรียกขวัญ ณ บ้านฉันโมโกร โรงเรียนโมโกรวิทยาคม, รักษ์อาชีพ : รายวิชา ถักทอสายใยลายน้ำเมย โรงเรียนแม่ระมาดวิทยาคม, รักษ์โลก : รายวิชา “พลังคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โรงเรียนสามเงาวิทยาคม ทั้งนี้ หลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” ยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น การสอนการเลี้ยงปูนาและการแปรรูปจากโรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม รวมถึงรายวิชาอาหารไทยและขนมอบเพื่ออาชีพจากโรงเรียนนาโบสถ์พิทยาคม
ดร.เกศทิพย์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ ทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 1 และ เขต 2 รวมถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดตาก ซึ่งทั้งหมดนี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ทำให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ และลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการคิดที่เน้นความฉลาดรู้ (Bloom Taxonomy) ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา และได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารและครูที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ทำให้การเรียนการสอนของจังหวัดตากก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับนักเรียนในพื้นที่ ผลสำเร็จจากงานนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และช่วยยกระดับ Soft Power ของจังหวัดตากในระดับประเทศอีกด้วย
การประชุมสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงท้องถิ่นกับการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของนักเรียนในจังหวัดตากอย่างยั่งยืน