นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้รายงานผลการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. หลังจากมอบให้ไปรับฟังความคิดเห็นในการว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33 กิโลเมตร (กม.) ก่อนลงนามสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาฯ
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า สนข. ได้แจ้งทาง รฟท. ว่า สนข. เสนอเรื่องการปรับเปลี่ยนรถไฟสายสีแดงจากผลการศึกษาเดิม เส้นทาง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย เป็นวงเวียนใหญ่-มหาชัย ไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แล้วตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. 67 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับ รฟท. และ ขร. ที่จะยังไม่ดำเนินการในเส้นทางช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคช่วงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่ผ่าน อีกทั้งการก่อสร้างมีมูลค่าสูงด้วย ที่ประชุมบอร์ด รฟท. จึงมีมติให้รอผลการพิจารณาจาก คจร. ก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย และรายงานบอร์ด รฟท. รับทราบอีกครั้ง ก่อนว่าจ้างที่ปรึกษาทบทวนฯ ต่อไป
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา บอร์ด รฟท. เห็นชอบเบื้องต้นให้ รฟท. ว่าจ้างกิจการค้าร่วม ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้จำกัด, บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาฯ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33 กม. วงเงินประมาณ 135 ล้านบาท ซึ่งจะมีระยะเวลาศึกษา 450 วัน โดยในระหว่างที่รอผลการพิจารณาของ คจร. หากพ้นกำหนดการยืนราคา ทาง รฟท. ก็ต้องเจรจาขอยืนราคากับเอกชนอีกครั้งจนกว่าจะลงนามสัญญา
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า สำหรับช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย อยู่ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ระยะทางประมาณ 37 กม. ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) นอกจากนี้ ยังบรรจุอยู่ใน M-Map 2 ที่ ขร. กำหนดให้อยู่ในกลุ่ม B เส้นทางมีศักยภาพ โดยปรับการดำเนินการสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย เป็น 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่, ช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน และช่วงบางบอน-มหาชัย-ปากท่อ ทั้งนี้ กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่จะมีการทบทวนการดำเนินการอีกครั้งภายหลังปี 72
อย่างไรก็ตามสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง ได้แก่ บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ส่วนเส้นทางต่อขยายยังคงต้องรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้เสนอช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อรอบรรจุวาระการประชุม ครม. แล้ว แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องส่งเรื่องกลับ และรอเสนอกลับเข้าไปอีกครั้ง
ขณะที่ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา บอร์ด รฟท. มีมติให้รวมเข้าด้วยกันเป็นช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน ส.ค. 67 ก่อนเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณาต่อไป ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,573 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท. แล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ส.ค. นี้ ก่อนเสนอ ครม. เช่นเดียวกัน.