เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดงานการประชุมสัมมนา symposium หลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” สู่ Soft power เพื่อให้ผู้บริหาร ครูและนักเรียน ได้มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอและเผยแพร่ผลงานการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” ประจำปีงบประมาณ 2567 ตามกรอบหลักสูตรท้องถิ่น 5 รักษ์ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก ณ โรงเรียนตากพิทยาคม จังหวัดตาก โดยมี นายสุทัศน์ ศรีดาเดช ผอ.สพม.ตาก พร้อมด้วย รอง ผอ.สพม.ตาก และบุคลากร รวมถึงศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียน เข้าร่วมงานกว่า 600 คน

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สืบเนื่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตากได้จัดทำโครงการการพัฒนาหลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” จังหวัดตาก บูรณาการมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ตามหลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และเพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนระดับสถานศึกษา โดยใช้สอดแทรกไปในรายวิชาพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือจัดทำเป็นรายวิชาเพิ่มเติม หรือหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อมจุดเน้นของสถานศึกษา และความต้องการของท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก พัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม มีสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีทักษะชีวิต สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ รวมถึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน และสังคมของจังหวัดตากได้

โดยภายในงานมีนิทรรศการหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก จำนวน 21 โรงเรียน และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก รวม 22 โรงเรียน ได้แก่

  1. รักษ์สุขภาพ รักตัวเอง เริ่มจากการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เมื่อสุขภาพกายและใจที่ดีก็จะทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
  2. รักษ์ภาษา ภาษา เป็นเครื่องมือสื่อสาร สื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชนบนความแตกต่างอย่างหลากหลายทางวัฒนธรรม
  3. รักษ์วัฒนธรรม การอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามบนความแตกต่างอย่างหลากหลายทางวัฒนธรรม
  4. รักษ์อาชีพ ส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ในชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดตาก เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก
  5. รักษ์โลก การดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดตาก ประเทศและโลกอย่างยั่งยืน

    โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมกิจกรรมในวันนี้ สิ่งที่ดิฉันเองเห็นความตั้งใจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” ด้วย 5 รักษ์ ที่จะแสดงให้เห็นถึงผลการตอบสนองของผู้เรียน โดยใช้อัตลักษณ์ของจังหวัดตาก สอดคล้องกับ Literacy เป็นกระบวนการเรียนการสอน Active learning ที่นำไปสู่การใช้หลักสูตรท้องถิ่น การจัดประชุม สัมมนา Symposium และนำเสนอผลงาน จะเป็นเวทีที่ทำให้นักเรียนได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีความหมาย จากสิ่งที่มีรอบตัวมาสู่การประยุกต์ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทางการศึกษาจาก สพป.ตาก เขต 1 สพป.ตาก เขต 2 ศึกษาธิการจังหวัด วิทยาลัยการอาชีพบ้านตาก เทคนิคตาก มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ตาก ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด สพม.ตาก และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก ที่เป็นพลังเครือข่ายเข้มแข็ง จัดบรรยากาศให้นักเรียนได้แสวงหาองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการ Active learning นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ ถ่ายทอดออกมาตามวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ จนเกิดกระบวนการคิด ไม่ใช่การสอบ เพื่อดู Achievement แต่ต้องแทรก Bloom taxonomy ข้อสอบต้องเป็นแนวคิดวิเคราะห์ ความฉลาดรู้ ต้องเปรียบเทียบ ประเมินค่าได้ ส่วนผู้บริหารและครูจะเกิด Professional Learning Community เกิดเครือข่ายที่ทำให้เข้าใจ Soft power สามารถต่อยอดไปสู่การเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ นักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งรอบตัวมีความหมาย นักเรียนจะสามารถทำให้ Product เกิดมูลค่า สู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ขอขอบคุณคณะผู้บริหารและคณะครูที่เข้ามาเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดตาก เพื่อให้เกิดผลในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

    “ต้องขอชื่นชม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาก และโรงเรียนในสังกัด ที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาหลักสูตรรักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์ อย่างเข้มแข็ง สร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง ขณะที่นักเรียนก็มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง เห็นได้จากการร่วมกิจกรรมและการแข่งขันต่างๆ ที่นักเรียนต่างแสดงความสามารถออกมากันอย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าได้รับการบ่มเพาะจากโรงเรียน ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านแหล่งเรียนรู้ ที่ให้ทั้งเนื้อหาความรู้ และเติมเต็มคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ การพัฒนาหลักสูตร “รักษ์ตาก อย่างสร้างสรรค์” ที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น จะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตของตนเอง ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามสภาพจริงของตนเอง สามารถนําความรู้ไปใช้การพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว