นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (สมาคมอีคอมเมิร์ซไทย) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ร่วมก่อตั้ง ไพรซ์ซ่า เปิดเผยว่า  การเข้ามาของ เทมู  “Temu”  แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องเจอกับความท้าทายจากสินค้าจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง  แม้ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่การเข้ามาของเทมูยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากสินค้าจากจีนสามารถเข้ามาในตลาดได้โดยตรงจากโรงงาน ทำให้สามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าสินค้าจากผู้ประกอบการไทยได้มาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาได้

“การรับมือกับสถานการณ์นี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยเน้นการสร้างแบรนด์และพัฒนาคุณภาพของสินค้า แทนที่จะพยายามแข่งขันในด้านราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำของสินค้าจากจีน การสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพและความแตกต่างจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้”

นายธนาวัฒน์  กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของไทยก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง นอกจากนี้รัฐบาลไทยควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยการดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีที่สอดคล้องกับสินค้าที่นำเข้าจากจีน โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้า ที่ยังไม่ได้เก็บในสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน

นอกจากนี้อีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยคือการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย โดยรัฐบาลควรผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์สินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยในตลาดโลก ตัวอย่างเช่น ประเทศอิตาลีที่สามารถสร้างสินค้าที่เป็นลักชัวรีได้โดยใช้พลังจากซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้มีความโดดเด่นและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว