ในการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ คนที่ดื่ม “กาแฟ” หรือ “ชา” อย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน มีโอกาสเป็น “โรคสมองเสื่อม” และ “อัลไซเมอร์” ลดลง 38 เปอร์เซ็นต์ และ 36 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่ม แต่จะได้ผลในทางตรงกันข้าม หากดื่มมากกว่า 3 แก้วขึ้นไป

หากคุณกำลังมองหาวิธีที่จะหยุดยั้งความเสื่อมของสมอง และ อัลไซเมอร์ คุณอาจต้องหันมาใส่ใจการดื่ม “กาแฟ” หรือ “ชา” ในตอนเช้า นั่นเป็นเพราะว่าการศึกษาใหม่ 2 ชิ้นแนะนำว่า การดื่ม “กาแฟ-ชา” 1-2 แก้วต่อวัน อาจเป็นวิธีหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพสมอง เมื่อคุณมีอายุมากขึ้น

การศึกษาชิ้นหนึ่งติดตามผู้ใหญ่อายุเฉลี่ย 68 ปี ที่มีสุขภาพและสติปัญญาที่ดี ประมาณ 6,000 คน เป็นเวลา 7 ปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของการติดตามผล มีผู้ป่วยประมาณ 230 รายที่เป็นโรคสมองเสื่อม แต่ผู้ที่ดื่มกาแฟอย่างน้อย 2 แก้วต่อวัน มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟถึง 38 เปอร์เซ็นต์ และความเสี่ยงสำหรับนักดื่มชาก็ต่ำกว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มชาถึง 36 เปอร์เซ็นต์ด้วย

แฟรงค์ บี. ฮู ศาสตราจารย์และประธานแผนกโภชนาการของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ในบอสตัน กล่าวว่า “อาจเป็นเพราะโพลีฟีนอลปริมาณสูงในเครื่องดื่มเหล่านี้ โพลีฟีนอลเป็นสารประกอบจากพืชที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสมอง”

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ติดตามผู้ใหญ่อายุอย่างน้อย 60 ปีที่มีสุขภาพและสติปัญญาที่ดี 8,451 คนเป็นเวลา 9 ปี การศึกษานี้มุ่งเน้นไปที่ Fluid Intelligence (ความฉลาดที่เลื่อนไหล สามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ด้วยการใช้เหตุผล) การคิดเชิงนามธรรม และทักษะการแก้ไขปัญหา ซึ่งตามธรรมชาติจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

นักวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟ 0-3 ถ้วยต่อวัน สัมพันธ์กับ Fluid Intelligence ที่ลดลงน้อยกว่าการบริโภค 4 แก้วขึ้นไปทุกวัน ส่วนการดื่มชาพบว่า การดื่มชาหนึ่งแก้วขึ้นไปในแต่ละวัน เชื่อมโยงกับ Fluid Intelligence ที่ลดลงน้อยกว่าการไม่ดื่มชาเลย

กาเฟอีนดีต่อสมอง หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ

นพ.เกลน ฟินนีย์ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา ผู้อำนวยการโครงการความจำและความรู้ความเข้าใจ วิทยาลัยไกซิงเกอร์แห่งวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมืองแดนวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ กล่าวว่า “การบริโภคกาเฟอีนในระดับปานกลาง จะส่งผลดีต่อ Fluid Intelligence แต่การบริโภคกาเฟอีนมากเกินไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพ Fluid Intelligence ลดลง เนื่องจากสมองของคุณอาจทำงานหนักเกินไป”

ด้าน หยู เฉิน ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจาก New York University Grossman School of Medicine กล่าวว่า “กาแฟอาจมีส่วนผสมอื่น ๆ เช่น คาเฟสทอล ซึ่งสามารถเพิ่มคอเลสเตอรอล ที่ส่งผลเสียต่อกระบวนการทางความคิด หากดื่มมากเกินไป”

การศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ ถูกนำเสนอในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ในโตรอนโต นักวิจัยให้ข้อมูลจากผลการวิจัยเบื้องต้น และผลการวิจัยไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์

แฟรงค์ บี. ฮู กล่าวปิดท้ายว่า “ทั้งสองกรณีเป็นการศึกษาเชิงสังเกต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกาแฟหรือชา ซึ่งอาจอธิบายการค้นพบนี้ได้ รวมถึงสภาวะสุขภาพพื้นฐานของผู้ถูกสังเกตการณ์ด้วย”.

ที่มาและภาพ : everydayhealth, congerdesign, PublicDomainPictures / Pixabay