อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอหมู วีระศักดิ์ ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ “พิษเกลือทอง” หากรับประทานเข้าสู่ร่างกาย เลือดจะมีความเป็นกรด และมีอาการท้องเสีย อาเจียน จนเกิดอาการช็อกได้

โดยหมอหมู ระบุข้อความว่า “พิษ “เกลือทอง” เลือดเป็นกรด ปวดท้อง อาเจียน ช็อก สำหรับเกลือทอง (KAuCN₂) หรือที่เรียกว่า โกลด์ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ประกอบด้วยทองคำที่ถูกซับลงในรูปแบบของไซยาไนด์ ซึ่งมักใช้ในการชุบเครื่องประดับด้วยไฟฟ้าในวงการจิวเวลรี่ และพบว่าเป็นผลพลอยได้จากการทำเหมืองทองคำ”

โดยมีรายงานกรณีผู้เสียชีวิตจาก เกลือทอง (KAuCN₂) ดังต่อไปนี้

  1. ชายวัย 84 ปีเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินหลังจากทาน KAuCN₂ 0.5–1 ช้อนชา ด้วยความตั้งใจ
  2. ผู้ป่วยมีอาการอาเจียนรุนแรง ท้องเสีย และหายใจลำบาก ความดันโลหิตไม่คงที่
  3. ผลการตรวจเลือดพบ ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic Acidosis)
  4. ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบ ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Sinus Tachycardia)

นอกจากนี้ หมอหมูระบุข้อความอีกว่า “แม้จะได้รับการรักษาพิษไซยาไนด์ด้วยยาแก้พิษแล้ว แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการกรดแลกติกในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อวัยวะหลายส่วนทำงานผิดปกติ และระบบหายใจล้มเหลว ต่อมาผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงหลังจากกินยาเข้าไป ผลการตรวจหาค่าไซยาไนด์ในเลือด เท่ากับ 0.25 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งต่ำกว่าค่า 1 มิลลิกรัม/ลิตร ที่เป็นระดับที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นในผู้เสียชีวิตรายนี้ จึงน่าจะเสียชีวิตจากพิษทองคำเฉียบพลัน แม้ว่าเราจะสัมผัสกับทองคำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสวมใส่เป็นเครื่องประดับ แต่การสัมผัสทองคำผ่านการกินยังคงพบได้น้อยในรายงานทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการดูดซึมทองคำในระบบทางเดินอาหารอย่างจำกัด เนื่องจากทองคำไม่แตกตัวเป็นไอออน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการดูดซึมทองคำในระบบทางเดินอาหารจากสาร KAuCN₂ จะสูงกว่า และอาจส่งผลเป็นพิษได้”

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษเฉียบพลันจากทองคำยังไม่ชัดเจน มีการเสนอให้ใช้การบำบัดด้วยการล้างสารพิษในหลอดเลือดผ่านทางหลอดเลือดดำ (Chelation Therapy) ด้วยยา cobalt ethylenediaminetetraacetic acid ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์