ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Anan Jongkaewwattana” เกี่ยวกับเชื้อไวรัส Mpox เป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยระบาดในหลายประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน โดยพบว่าข้อมูลไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยใน DRC หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีความแตกต่างระหว่าง Clade Ia และ Clade Ib แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมแนะวิธีรับมือต้องไวและมีประสิทธิภาพ
โดยดร.อนันต์ ระบุข้อความว่า ไวรัส Mpox ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ จะเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในหลายประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน โดยตอนนั้นเป็น Clade II แต่ตัวที่กำลังเป็นที่จับตามองเป็นสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่ม Clade I โดยในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ Clade Ia และ Clade Ib โดยไวรัสในกลุ่ม Clade Ib เป็นไวรัสเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อปีที่แล้วใน South Kivu ในประเทศ DRC หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของ Clade I มานานแล้ว เหตุการณ์ตอนนี้ไวรัส Clade Ib จาก DRC พบการระบาดอย่างต่อเนื่อง และ แพร่กระจายต่อไปยังประเทศข้างเคียง ข้อมูลไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยใน DRC พบความแตกต่างระหว่าง Clade Ia และ Clade Ib อย่างมีนัยสำคัญ
โดยมี 9 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
- สายพันธุ์ Clade Ib ในการศึกษานี้มาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อในปี 2024 ในจังหวัด South Kivu ซึ่งบ่งชี้ว่า Clade Ib เป็นการพัฒนาที่ค่อนข้างใหม่ใน DRC
- Clade Ib พบเฉพาะในภาคตะวันออกของ DRC โดยเฉพาะในจังหวัดเซาท์คิวู ซึ่งแตกต่างจากการกระจายตัวที่กว้างขวางของ Clade Ia ทั่วประเทศ
- เชื่อว่าไวรัส Clade Ia ที่พบในผู้ป่วยจะเกิดจากการเชื้อจากสัตว์สู่คนโดยตรง ทำให้เกิดความหลากหลายพันธุกรรมของไวรัสสูงมาก เพราะมีการติดเชื้อจากสัตว์หลาย source หลายเวลา ส่วน Clade Ib มีความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อยกว่ามาก ซึ่งเชื่อมโยงกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบาดวิทยาของ mpox ในภูมิภาคนี้
- การศึกษาพบการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 ใน Clade Ib ซึ่งบ่งชี้ถึงการแพร่เชื้อจากคนสู่คน นี่เป็นหลักฐานทางโมเลกุลที่สนับสนุนข้อสังเกตทางระบาดวิทยา ปกติการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 จะเป็นสัญญาณที่ไวรัสอยู่ในประชากรมนุษย์เป็นเวลาสักระยะหนึ่ง ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเยอะก็หมายถึงไวรัสปรับตัวเองเข้าสู่มนุษย์ได้ดีขึ้น
- การศึกษาระบุว่าข้อมูลทางคลินิกและระบาดวิทยาสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ไวรัส Clade Ib กำลังแพร่กระจายผ่านการสัมผัสทางเพศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากรูปแบบการแพร่เชื้อ mpox แบบดั้งเดิมใน DRC ซึ่งมักเกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง
- การระบาดของ Clade Ib ในภาคตะวันออกของ DRC ได้แพร่กระจายไปยังเมืองอื่นๆ ในจังหวัดเซาท์คิวู (บูกาวูและอูวิรา) และจังหวัดนอร์ทคิวู (โกมา) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดา ยูกันดา เคนยา และบุรุนดี การเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของ Clade Ib เป็นความกังวลด้านสาธารณสุขที่สำคัญ นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา
- การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องของ Clade Ib ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการปรับตัวของไวรัสที่อาจช่วยให้การแพร่กระจายในรูปแบบนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น
- ความรุนแรงของเชื้อระหว่าง Clade Ia และ Ib ใกล้เคียงกัน และ มีความรุนแรงที่สูงกว่า Clade II แต่ทั้งนี้ตัวเลขความรุนแรงที่มีอัตราเสียชีวิต 5% เป็นการเก็บข้อมูลในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ค่อยดี และ มีการติดเชื้อ HIV เป็นวงกว้างส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ดี ข้อมูลจึงอาจต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวด้วย
- เนื่องจาก Clade I ยังมีอยู่ในแอฟริกา และ วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะทดสอบกับ Clade II ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่า ประสิทธิภาพการป้องกันโรคต่อ Clade I จะดีเท่ากับที่รายงานใน Clade II หรือไม่
“ประเทศสวีเดนเป็นที่แรกที่ประกาศพบผู้ป่วย mpox Clade I ในประเทศ เป็นคนแรกนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งข่าวนี้สร้างความ panic พอสมควรทีเดียว แต่เอาจริงๆ บทเรียนจากการระบาดของ Clade II เมื่อ 2 ปี ก่อน บอกว่ามันคงเกิดขึ้นไม่เร็วก็ช้า แต่การรับมือต้องไว และ มีประสิทธิภาพอีกด้วย” ดร.อนันต์กล่าว
ขอบคุณข้อมูล : Anan Jongkaewwattana