ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าแก้ปัญหา “อาชญากรรมออนไลน์” อย่างเต็มที่ หวังกำราบ “โจรไซเบอร์” ให้อยู่หมัด เมื่อ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับ “ภัยออนไลน์” เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรฯมาหลอกลวงคนไทยสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล!!

และดูเหมือนว่า ที่ผ่านมาแม้จะเร่งดำเนินการในหลายมาตรการ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป  แม้จะพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนควบคู่กันไปด้วยแล้ว

ล่าสุดหน่วยงานรัฐ เตรียมใช้ “ยาแรง”  เล่นงานพวกมิจฉาชีพให้เกรงกลัวการกระทำผิดยิ่งขึ้น เมื่อที่ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ซึ่งมี “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รักษาการ รมว.ดีอี เป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เตรียมร่าง “กฎหมายพิเศษ” และแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น!?!

ภาพ pixabay.com

เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า มิจฉาชีพออนไลน์ ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวง รวมถึงใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น และ ก.ม.บางฉบับ ก็ล้าหลัง เป็นอุปสรรคในการบังคับใช้ หรือมีบทลงโทษที่ไม่รุนแรง เป็นต้น

โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาเสนอให้มีการแก้กฎหมายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญ คือ

1. การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร มีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคืนเงินผู้เสียหายได้ เนื่องจากการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด หรือ ยังติดขัดข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย  

โดยเงินที่ ปปง. ระงับหรืออายัดบัญชีม้ามาได้นั้น จะไม่สามารถนำเงินมาคืนผู้เสียหายได้ทันที จนกว่าจะมีคำสั่งจากศาล  ซึ่งต้องมีการกระบวนการพิสูจน์ทราบก่อนว่า  ผู้เสียหายนั้นๆ เกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของเงินที่ยึดมาได้นั้นจริงๆ  ศาลก็จะมีคำสั่งให้นำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย

แต่กระบวนการตรงนี้ต้องใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์เส้นทางการเงิน ของ  ปปง. แล้วจึงนำเสนอต่อศาลให้มีคำสั่ง ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี แต่หากมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ผู้เสียหายได้รับทรัพย์คืนได้เร็วขึ้น!!

ภาพ pixabay.com

2.การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี

ซึ่งการเสนอแก้ไขบทลงโทษผู้กระทำผิด เนื่องจากว่าปัจจุบัน การซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลมีโทษจำคุกเพียง 1 ปี ทำให้ยังมีการลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลมาขาย  รวมถึงยังมีการทำข้อมูลของประชาชนหลุด โดนขโมย หรือโดนแฮก ของหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การเพิ่มบทลงโทษ ถือเป็นการกวดขันให้หน่วยงานที่มีข้อมูลประชาชนมีความระมัดระวัง และทำให้มิจฉาชีพที่นำข้อมูลส่วนบุคคลมาขายเกรงกลัวกับโทษที่ต้องได้รับมากขึ้น!!

3.การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนร้ายหรือโจรออนไลน์

โดยที่ผ่านมาจากการติดตามเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามิจฉาชีพมีการโอนเงินจากบัญชีม้าไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้การติดตามเส้นทางการเงินเพื่ออายัดหรือตามจับผู้กระทำผิดทำได้ยาก จึงเห็นควรมีมาตรการที่ใช้ป้องกันการโอนเงินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ รวมถึงแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้ติดตามตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และ 4. การระงับธุรกรรมต้องสงสัยในส่วนของการใช้ซิม หรือการสื่อสารต้องสงสัยเป็นการชั่วคราว  เนื่องจากปัจจุบันซิมการ์ด และสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเครื่องมือหลักที่เหล่ามิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการหลอกลวงคนไทย

ภาพ pixabay.com

ที่ผ่านมาทาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการออกมาตรการ อาทิ การจดแจ้งลงทะเบียนซิม สำหรับผู้ถือครองซิมเกิน 5 เลขหมายขึ้นไป รวมถึง กวดขันสัญญาณมือถือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดน เพื่อไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลอบใช้บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านได้

นอกจากนี้จะมีการแก้กฎหมายในประเด็นอื่นที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีออนไลน์ ที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน  ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวบรวมประเด็นกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พร้อมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 30 วัน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องรอ ครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน

อย่างไรก็ตามในส่วนของผลการดำเนินการแก้ปัญหาบัญชีม้า อายัดบัญชี เพื่อตัดตอนการโอนเงินนั้น ข้อมูลล่าสุดถึง 31 ก.ค. 67  ได้ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 920,694 บัญชี แบ่งเป็น ปปง. 451,188 บัญชี ธนาคารระงับ 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ  169,506 บัญชี

ส่วนการแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมที่ผูกกับ โมบาย แบงก์กิ้ง นั้น ได้ระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 71,122 หมายเลข มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 70,704 เลขหมาย

ภาพ pixabay.com

ส่วนการกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. โดยกลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม มีเลขหมายที่เข้าข่าย 5 ล้านเลขหมาย ครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1 ล้านเลขหมาย  

ขณะที่กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ กำหนดยืนยันตัวตนภายใน 13 ก.ค. 67 มีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย ระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.9 ล้านเลขหมาย นอกจากนี้ยังมีการเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย

ถือเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญ เพื่อปราบอาชญากรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องติดตามดูว่าหากมี ก.ม.พิเศษ ออกมาจริงๆ แล้วจะปราบเหล่ามิจฉาชีพได้อยู่หมัดหรือไม่?

จิราวัฒน์ จารุพันธ์