‘โลกของการท่องเที่ยว’ กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยมุ่งเน้นการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ความสะดวกสบายในการเข้าใช้บริการ จนอาจก่อให้เกิดการบริโภคที่เกินความจำเป็นและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทว่าปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้น การตระหนักถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมและท้องถิ่น ทำให้เกิดกระแสความต้องการที่จะเดินทางโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไปพร้อมกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นธรรม

แน่นอนว่า เมื่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ก็จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ (ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ โดยครอบคลุมตั้งแต่การรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อุตสากรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนได้

‘ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์’ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า มูลค่าทางการตลาดที่คาดว่าจะเกิดได้จากการผลักดันการท่องเที่ยวยั่งยืนนั้น อาจไม่ได้มาในรูปแบบของจำนวนเงิน แต่สามารถวัดได้จากจำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาสู่วงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น มีผู้ส่งผลงานเข้ารับการพิจารณารางวัล Thailand Awards โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการท่องเที่ยวประเภทคาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนเสียงตอบรับของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลจากโครงการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดย TAT Academy พบว่านักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการรักษ์โลก โดย 83% จะพิจารณาจ่ายเพิ่มในระดับมากและมากที่สุด โดยใช้จ่ายกับกิจกรรมท่องเที่ยวมากที่สุด รองลงมาคือ ที่พัก ตั๋วโดยสารเครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุดตามลำดับ อีกทั้งยังเต็มใจจ่ายเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รักษ์โลกทุกประเภทจากสินค้าและบริการราคาปกติ 5-10% มากที่สุด

สอดคล้องกับการที่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ได้ส่งสัญญาณตอบรับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีแนวคิดเพื่อความยั่งยืน สำหรับตลาดต่างประเทศ สัญญาณที่เห็นชัดคือมาตรการการทำงานร่วมกับคู่ค้าขององค์กรระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับคู่ค้าที่ดำเนินงานด้วยความ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Tourism Care’ ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่เท่าเทียม สมดุล และผลักดันการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ, Flight Center’ ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกับคู่ค้าที่ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไปจนถึง ‘Tui’ ที่ส่งเสริมการดำเนินงานที่สนับสนุนท้องถิ่น โดยเลือกใช้บริการในธุรกิจที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GSTC และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวไทย สามารถวัดได้จากเติบโตของธุรกิจสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลาดสีเขียวต่างๆ รวมถึงการเติบโตของร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของประเทศไทยตามฤดูกาลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เป็นมากกว่าอาหารท้องถิ่น

ที่ผ่านมา ททท. ได้ดำเนินการโครงการเพื่อผลักดันแนวทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals : STGs) อย่าง ‘โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating’ โดยยึดหลักการพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้ง 17 เป้าหมาย ที่สะท้อนความยั่งยืนในมิติต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 มิติ คือ มิติธรรมาภิบาล, มิติสังคม-เศรษฐกิจ, มิติวัฒนธรรม และมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการดังกล่าว นับเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวทางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ของ ททท. เพื่อพัฒนาการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในด้านการบริการต่างๆ บนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์บริการด้านการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการพัฒนาบริการให้มีคุณค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยเป็น Sustainable Tourism Destination’ หรือ จุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของนักเดินทางต่อไป

“ปัจจุบันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือการท่องเที่ยวของคนเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จและเป็นภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โครงการ STG STAR ในปี 2567 นี้ ถือเป็นการกระตุ้นและขับเคลื่อนอุตสหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้เกิดการตื่นตัวและตระหนักรู้ในการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน เราคาดหวังว่าในปี 2568 จะต้องเริ่มเห็นการขยับขยายของจำนวนโรงแรมที่ได้รับ STG STAR เพิ่มมากขึ้น และในปี 2569-2570 คาดว่าไม่ต่ำกว่า 75-80% ของจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องได้ STG STAR อย่างน้อย 3 ดาว ในอนาคตอันใกล้ หากธุรกิจใดไม่ได้ STG STAR ททท. ก็อาจไม่ทำการส่งเสริมการตลาดให้กับธุรกิจนั้น” ฐาปนีย์ กล่าว

ไม่เพียงแต่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเท่านั้น ประเด็นข้อกฎหมายจากสหภาพยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว อย่าง กฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive’ (CSDDD) ที่กำลังจะถูกใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ดำเนินการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อระบุและแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การบังคับใช้แรงงาน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ ททท. เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ทุกธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับความท้าทายในทุกมิติ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจากทั้งในและต่างประเทศได้อย่างเท่าทัน

นอกจากนี้ ฐาปนีย์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่าง ‘เทรนด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวปัจจุบัน’ จากศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว ททท. (TAT Academy) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1. Awescapes เที่ยวในที่ที่ดีต่อใจ ผู้บริโภคกำลังมองหาประสบการณ์สุดพิเศษที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ห้วงความรู้สึกประทับใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ หรือแม้แต่สถานที่ลึกลับน่าค้นหา ซึ่งเกิดขึ้นจากความงดงาม ยิ่งใหญ่ และพลังบวกจากธรรมชาติ โดย 89% ของผู้บริโภคทั่วโลกให้ความเห็นว่า ประสบการณ์สุดพิเศษ ทำให้พวกเขารู้สึกดี นอกจากนี้ ผลการสำรวจหลายสำนักยังพบว่า การหลีกหนีความวุ่นวายไปอยู่กับธรรมชาติช่วยลดภาวะหมดไฟของพนักงานได้ เช่นเดียวกันกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัย Northwestern University รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ยังพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และดูเยาว์วัยกว่าคนที่อาศัยอยู่ไกลพื้นที่สีเขียวประมาณ 2.5 ปี สถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์พิเศษรวมถึงใกล้ชิดธรรมชาติ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งนักเดินทางต้องการ

2. Luggage-Free Trip เที่ยวแบบลดสัมภาระ วิธีการเดินทางเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวสายกรีนให้ความสำคัญ การท่องเที่ยวแบบลดสัมภาระ จึงกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวยุคใหม่ เนื่องจากการลดสัมภาระถือเป็นการมอบอิสระ ความยืดหยุ่น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนักเดินทางจะเลือกจัดเตรียมเพียงของที่จำเป็นหรือสะพายกระเป๋าเป้เพียงหนึ่งใบตลอดการเดินทาง แทนการแบกสัมภาระมากมายในกระเป๋าลากใบใหญ่ให้เป็นอุปสรรคในการสำรวจและทำกิจกรรมระหว่างทริป ทั้งยังหันไปใช้บริการเช่าใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมที่จุดหมายปลายทาง ภายใต้ความมุ่งหวังที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยคาร์บอนฯ ในการขนส่ง และเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่ายและเบาสบายขึ้น

3. Sustainable Wanderlust เที่ยวแบบยั่งยืน จากการสำรวจพบว่า 73% ของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแนวทางเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมที่พักที่มีแนวทางด้านความยั่งยืนมีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากนี้ Booking.com ยังเผยว่า นักท่องเที่ยวหลังจากนี้จะมีความชาญฉลาด และเพ่งเล็งนโยบายด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยกว่า 53% ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านความยั่งยืน 60% ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากนโยบายด้านความยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยว และยังรู้สึกดีกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีพื้นท่ีสีเขียวอุดมไปด้วยต้นไม้อากาศบริสุทธิ์ และมีกิจกรรมท่ีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนจะเป็นมากกว่ากระแสหรือการพักผ่อนระยะสั้น แต่กำลังมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดไปสู่ความเป็นวิถีชีวิต ความยั่งยืนกลายเป็นสไตล์การท่องเที่ยวที่ทุกธุรกิจท่องเที่ยวละทิ้งไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องตื่นตัวและเป็นผู้แสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่ธุรกิจของตนเองอยู่เสมอ

4. Regenerative Tourism เที่ยวแล้วดีกว่าเดิม หลังจากคำว่า Sustainability เป็นที่พูดถึงมาอย่างยาวนาน ณ ขณะนี้ คำว่า Regeneration เปรียบเสมือนก้าวถัดไปในของเรื่องความยั่งยืน โดยคำดังกล่าวหมายถึงการฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาดีดังเดิม และแน่นอนว่า ในวงการท่องเที่ยวสายกรีนก็มี Regenerative Tourism เกิดขึ้นเช่นกัน การท่องเที่ยวรูปแบบนี้หมายถึงการท่องเที่ยวและค้นพบสถานที่ใหม่ๆ ด้วยวิถียั่งยืน เป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้สร้างผลกระทบเชิงบวกกับสถานที่นั้น ฟื้นฟูให้สถานที่นั้นๆ ดีขึ้นทั้งในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และการรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การไปเที่ยวในสถานที่พักที่รักษาสภาพแวดล้อม หรือที่พักในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งชุมชนท้องถิ่นสร้างขึ้นเพื่อช่วยรักษาผืนป่าเอาไว้ 

และ 5. Inclusive Tourism เที่ยวแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากผู้คนยุคนี้จะมองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมาย พวกเขายังสนใจอีกว่าการเดินทางท่องเที่ยวนั้นทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า ‘Inclusive Tourism Inclusive Tourism’ หมายถึง การท่องเที่ยวซึ่งรองรับความหลากหลายของผู้คน ตั้งแต่ช่วงวัย สภาพร่างกาย ตัวตน และวัฒนธรรม รวมถึงไม่ทิ้งกลุ่มคนชายขอบไว้เบื้องหลัง อาทิ โรงแรมและสายการบินที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่นำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวยังใส่ใจความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย

ทั้งนี้ล่าสุด ททท. ยังได้ร่วมกับ The Cloud และเครือข่ายพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน จัดงาน ‘Amazing Green Fest 2024’ เทศกาลที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชวนคนออกเดินทางอย่างรับผิดชอบ ไปพบธรรมชาติสุดมหัศจรรย์ วัฒนธรรม วิถีชุมชน การกิน-อยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย พร้อมสนับสนุนธุรกิจรายย่อยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโต เดินหน้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน ประกอบไปด้วย Green Tourism, Green Business, Green Learning, Green Food, Green Playground และ The Cloud Sharing Space ตั้งแต่วันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 ที่ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

“การผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นภารกิจสำคัญที่ ททท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เราจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชน ชุมชน และกลุ่มคน ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และส่วนที่สำคัญที่สุดคืออย่างนักท่องเที่ยวเอง เราก็ได้มีการผลักดันให้นักท่องเที่ยว มีความรู้ ความเข้าใจในการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนท้ายที่สุดสามารถตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนที่จะต้องมีส่วนช่วยกันดูแลโลกต่อไป เพราะการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน”  ฐาปนีย์ กล่าวทิ้งท้าย