จากกรณีที่ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 และศาลอาญาได้ประทับรับฟ้องเป็นคดี พร้อมนัดตรวจหลักฐาน ในวันที่ 19 ส.ค. นี้ นั้น

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ผู้สื่อข่าวได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า ในวันพรุ่งนี้ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยในคดีดังกล่าวจะเดินทางมาศาลตามนัดตรวจหลักฐาน สอบคำให้การที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดีที่ 913 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1860/2567 กรณีเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 58 นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดีย (The ChosunMedia) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมีเนื้อหาใจความเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นัดตรวจหลักฐานศาลจะมีการสอบคำให้การจำเลยอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะรับสารภาพ หรือ ปฏิเสธข้อกล่าวหาเพื่อสู้คดีต่อ หากจำเลยปฏิเสธ ศาลจะให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หลังจากนั้นให้คู่ความแต่ละฝ่ายแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาล และให้ศาลสอบถามคู่ความถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิงตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง เสร็จแล้วให้ศาลกำหนดวันสืบพยาน ของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่อไป

ซึ่งถ้าอิงจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ระบุว่าการพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย แสดงว่านายทักษิณจะต้องเดินทางมาด้วยตนเองในทุกนัดหลังจากนี้ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จำเลยอย่างนายทักษิณไม่ต้องเดินทางมาก็ได้ ตามมาตรา 172 ทวิ(4) ที่ระบุไว้ว่า หากจำเลยไม่อาจมาฟังการพิจารณาและสืบพยานได้เนื่องจากความเจ็บป่วย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อจำเลยมีทนายความ และจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน หรือ ในระหว่างการพิจารณาและสืบพยาน ศาลสามารถมีคำสั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณา เพราะเหตุขัดขวางการพิจารณาก็ได้ ตามมาตรา 180 กฎหมายให้อำนาจศาลมีสิทธิที่จะเพิกถอนสิทธิในการเผชิญหน้ากับพยานของจำเลย โดยไล่จำเลยออกจากห้องพิจารณาได้ อย่างไรก็ตามทางศาลจะพิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า เพื่ออำนวยความยุติธรรม.