เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ Kinjai Contemporary กรุงเทพฯ น.ส.บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ ILAW , นายเฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายแอมเนสตี้ประเทศไทย, น.ส.วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ อดีตอาสาสมัครสังเกตการณ์ชุมนุม MOB DATA และ นายณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ประเทศไทย ร่วมเสวนาในแคมเปญ “Protest for Tomorrow #แก้ไขพรบชุมนุมไม่ควบคุมประชาชน” โดยกล่าวถึงเรื่องเส้นทาง 5 ปี MOB DATA ความหวังความฝันต่ออนาคตและการแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

น.ส.บุศรินทร์ เปิดเผยว่า ตนติดตามและให้ความสนใจต่อการชุมนุมตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 59 ซึ่งตนได้เห็นหลายองค์กรที่ได้ทำงานด้านเสรีภาพของการชุมนุม แต่ขณะมีการชุมนุม ข้อมูลต่างๆของการชุมนุมนั้นกระจัดกระจายไปในหลายองค์กร จึงเกิดโครงการ MOB DATA ขึ้นในปี 63  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ประเทศไทย และโครงการอินเตอร์เน็ตกฎหมายเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้บันทึกและวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบแนวโน้มการชุมนุมของประชาชนและการตอบสนองของรัฐ แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นข้อมูลที่บันทึกถึงการใช้ความรุนแรง การจับกุม และการดำเนินคดีผู้ชุมนุม ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก

โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องการชุมนุมประท้วงอย่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่พบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เพราะใน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มีข้อกำหนดที่เข้มงวดและได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวาง  

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_9125-1280x854.jpg

น.ส.บุศรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า โดยวิธีการการทำงานของ MOB DATA นั้น ผู้ที่เป็นเซ็นเตอร์ที่คอยมอนิเตอร์อยู่ระบบหลังบ้าน จะต้องเก็บเนื้อหาข้อมูลว่าวันนี้ผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง และทางตำรวจมาทำอะไร รวมถึงคอยประเมินความรุนแรง ก่อนที่จะกระจายงานให้กับทางอาสาสังเกตการณ์การชุมนุมภาคสนามที่มีการแบ่งหน้าที่กัน อาทิช่างภาพ คอยเก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน และผู้คอยเขียนรายงานบันทึกสถานการณ์นั้นๆ โดยจะไม่ให้เขียนรายงานที่ใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ส่วนตัว  ให้รายงานตามจริงว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร  โดยจะแบ่งกันไปตามจุดต่างๆ และเมื่อมีการชุมนุมจบลงจะมีการเผยแพร่บันทึกไว้ที่ระบบหน้าบ้าน

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_9108-1280x854.jpg

นายเฝาซี กล่าวว่า สำหรับตนที่ทำหน้าที่เป็นช่างภาพคอยบันทึกเหตุการณ์ผ่านภาพถ่าย ก่อนที่จะได้เข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องมีการเทรนอย่างหนัก และสำหรับผู้สังเกตการณ์ตนมองว่ามีอุปสรรคท้าทายอยู่ 2 อย่าง คือ ผู้สังเกตการณ์ไม่มีตัวตนในแง่ของด้านกฎหมายในการดูแลการชุมนุม จึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายจากทั้งทางส่วนของภาครัฐ และทั้งทางผู้ที่มาชุมนุม รวมไปถึงเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี และอีกหนึ่งอุปสรรคคือ ภาพจำของฝ่ายรัฐบาลมองว่า ทาง MOB DATA เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จึงทำให้ขณะลงพื้นที่ไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยของตัวอาสาภาคสนาม ทำให้เก็บข้อมูลอย่างยากลำบาก ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการทำงานของ MOB DATA ยึดหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก บันทึกข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_9109-1280x854.jpg

ด้าน น.ส.วิโรฌา ในฐานะที่ตนทำหน้าที่เป็นผู้คอยเขียนรายงานสถานการณ์การชุมนุมตามความเป็นจริงนั้น ตนอยากเห็นอนาคตเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้ถูกรับรองสิทธิการชุมนุมและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่านี้ ในการออกมาเรียกร้องการชุมนุมในแต่ละครั้ง เพราะว่าการชุมนุมคือเสียงจากประชาชนที่ได้ออกมาส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเรียกร้องทางเชิงนโยบาย ส่งผลให้มีการถกเถียงกันในทางรัฐสภาเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง จึงอยากให้ทางภาครัฐแก้ไขพ.ร.บ.ตรงนี้ เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพ และเป็นการการันตีว่าสิทธิต่างๆในประเทศไทยถูกยกระดับขึ้นแล้ว.