สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ว่าในการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำนิวซีแลนด์ เมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน กล่าวว่า นิวซีแลนด์ไม่สามารถพึ่งพา “ความโดดเดี่ยวที่ไม่เหมือนใคร” ซึ่งเกิดจากภูมิศาสตร์ของประเทศได้อีกต่อไป รากฐานของการกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่คือ ความร่วมมือกับพันธมิตรเก่าแก่ที่สนิทสนมกันมาอย่างยาวนาน

ลักซอนกล่าวว่า นิวซีแลนด์จะพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด จากมีความใกล้ชิดในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น โดยมีสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และกลุ่มประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในแปซิฟิก

ทั้งนี้ ลักซอนยอมรับว่า จีนยังคงเป็นพันธมิตรทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ และเป็นประเทศซึ่งมีอิทธิพลอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ค่านิยมที่แตกต่างกันนั้น ทำให้ยังมีประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายยังคงเห็นต่าง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา หน่วยข่าวกรองของรัฐบาลเวลลิงตันรายงานว่า กลุ่มแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ เมื่อปี 2564 และแทรกซึมเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จีนปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น และกล่าวหาว่า ชาวนิวซีแลนด์ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ เป็นหุ่นเชิดของสหรัฐ

ลักซอนร่างแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภูมิรัฐศาสตร์ในระดับภูมิภาค และเตือนว่า นิวซีแลนด์ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่อความขัดแย้งในภูมิภาคอย่างชัดเจน “เราไม่สามารถบรรลุความเจริญรุ่งเรืองได้หากไม่มีความมั่นคง” เขากล่าว โดยนิวซีแลนด์ต้องมีส่วนร่วมและมีส่วนสนับสนุน ไม่ใช่แค่เป็นผู้สังเกตการณ์

เพื่อไปสู่การบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว การตรวจสอบด้านการป้องกันประเทศ จะมุ่งเน้นไปที่การทดแทนและยกระดับขีดความสามารถทางทหารของประเทศ ขณะเดียวกัน นิวซีแลนด์ยังพิจารณาเข้าร่วมกรอบความร่วมมือไตรภาคี “ออคัส” ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), โดรนใต้น้ำ และขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง

อน่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชาวนิวซีแลนด์ที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเฮเลน คลาร์ก เตือนว่า รัฐบาลไม่ควรทำให้จีนหงุดหงิดใจ และไม่ควรเพิ่มการพึ่งพาด้านความมั่นคงกับสหรัฐ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES