เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ แปลงปลูกฝ้ายกลุ่มทอผ้าไทเลย บ้านก้างปลา ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย นายอนุพงศ์ คําภูแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดงาน “ร่วมใจปลูกฝ้ายไทเลย” ณ แปลงปลูกฝ้ายกลุ่มทอผ้าไทเลย บ้านก้างปลา ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย มีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู นักเรียน และชาวบ้านก้างปลา ตำบลชัยพฤกษ์ ร่วมกิจกรรม 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า  จังหวัดเลย   เป็นจังหวัดเดียว ที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย พันธุ์ฝ้ายพื้นเมืองของจังหวัดเลยเรานั้นมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ฝ้ายตุ่ยน้อย ฝ้ายตุ่ยใหญ่ ฝ้ายขาวน้อยและฝ้ายขาวใหญ่ วิถีเดิมจังหวัดเลยมีอากาศหนาวเย็นมาก ทุกครอบครัวต้องปลูกฝ้าย เพื่อนำดอกฝ้าย มาทำผ้าห่ม ผ้านวม และใช้ในชีวิตประจำวัน สืบทอดมาแต่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2520 รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเลย และเป็นที่นิยมจนเป็นพืชไร่ที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัดเลย ทำให้เป็นที่มาของการจัดงาน “ดอกฝ้ายบานสืบสานวัฒนธรรมไทเลย”

การปลูกฝ้ายเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ ชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model) ซึ่งสินค้าฝ้ายธรรมชาติของจังหวัดเลย ที่ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100% มีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เป็นสินค้าที่สอดคล้องกับ BCG Model ที่สะท้อนถึงการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไป นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบัน ผ้าฝ้ายเมืองเลยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาต่อไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการกระจายรายได้ อันจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน 

นายฉลอง อินทนนท์ เกษตรจังหวัดเลยกล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสมาชิกให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายกระดับและมาตรฐานกระบวนการผลิตฝ้ายและผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และส่งเสริมกิจกรรมและสร้างช่องทางการตลาด รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาผ้าฝ้ายเมืองเลย สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไท ให้ดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตฝ้ายและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดเลย รวมทั้งเพิ่มสร้างช่องทางการตลาด