เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับโรคฝีดาษวานร ให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหลังแอฟริกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย เคลด 1 บี (Claude 1b) ล่าสุดประเทศสวีเดนได้แถลงพบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ย่อย เคลด 1 บี ว่า ไม่อยากให้ประชาชนตระหนกจนเกินไปเพราะประเทศไทยมีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว ทุกด่านเข้าประเทศ ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่าประเทศสวีเดนพบผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าว ก็จะมอบหมายให้ทีมกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค ติดตามข้อมูล ส่วนจะเพิ่มการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสวีเดนหรือประเทศแถบยุโรปนั้นคงต้องขอดูข้อมูลก่อน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคฝีดาษลิงอยู่แล้ว ล่าสุดได้มอบหมายกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค เพิ่มมาตรการและเข้มงวดการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด ได้แก่ 1. ตรวจสอบการลงทะเบียน Health Declaration เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งต้องมีที่อยู่ การเดินทางและสถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในประเทศไทย 2.ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (Health Beware Monitor) 4 ภาษา ได้แก่ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้ง QR code สำหรับการรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง 3.วัดอุณหภูมิร่างกาย  4.หากพบผู้เดินทางมีผื่น หรืออาการเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสามารถรอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที 5. หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ เป็นโรคฝีดาษลิง จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร และ 6.กรณีพบผู้เดินทางมีผื่นชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ได้ทันที

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษลิง ในประเทศไทยด้วยการสุ่มตรวจมาโดยตลอด ยังไม่พบสายพันธุ์เคลด 1 บี ที่มีการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคล หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตาม ร่างกายเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น สำหรับการป้องกัน ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ 2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 3.หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค