เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ว่า ยังคงเดินหน้าต่อไปจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ผ่านหลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการเร่งจับปลาออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ในทุกจังหวัดที่พบปลาชนิดนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นหนึ่งองค์กรที่ร่วมมือแก้ปัญหา ด้วยการเร่งดำเนินการ 5 โครงการเชิงรุกบูรณาการความร่วมมือกับ ทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด
ซีพีเอฟ แจง กมธ. ยันไม่ใช่สาเหตุ ย้ำพร้อมร่วมมือรัฐจัดการปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’
ไล่เรียงโครงการเชิงรุกที่ CPF ดำเนินการ ตั้งแต่ 1. ความร่วมมือกับกรมประมง สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่พบปลาชนิดนี้ ตั้งเป้ารับซื้อจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่น ภายใต้ความร่วมมือกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร โดยรับซื้อปลาจากชาวประมงในสมุทรสาครไปแล้วมากกว่า 6 แสนกิโลกรัม และบริษัทได้ขยายจุดรับซื้ออีกหลายจังหวัดต่อไป
2. โครงการสนับสนุนปลานักล่า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ลงแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง เพื่อกำจัดลูกปลาที่เหลือออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด จนถึงปัจจุบันบริษัทได้ส่งมอบปลากะพงขาวปลานักล่าไปแล้ว 54,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ปรากฏผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่าจังหวัดสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 800,000 ตัว สอดคล้องกับชาวประมงจังหวัดสมุทรสาครที่ให้ข้อมูลว่า จำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลงถึง 80%
3. โครงการสนับสนุนภาครัฐ ชุมชน และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา อย่างเช่นกรมประมงเปิดปฏิบัติการ “ลงแขกลงคลอง” โดยบริษัทสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน รวมทั้ง อาหารและน้ำดื่มให้แก่ผู้ร่วมงานในทุกพื้นที่ ซึ่งบริษัทได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมจับปลาแล้วใน 6 จังหวัด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม และฉะเชิงเทรา ยังได้เดินหน้าร่วมกิจกรรมกับประมงจังหวัดที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทขยายความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ล่าสุด ร่วมสนับสนุนโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำถังพลาสติกใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 200 ใบ จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มอบแก่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อส่งต่อให้กับการยางแห่งประเทศไทย สำหรับใช้เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ โดยทยอยส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ฯลฯ จนครบต่อไป
4. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจร่วมดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.เกษตรฯ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมพัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ทั้งปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และน้ำพริกปลากรอบ
5. โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว โดย สจล. และ ม.เกษตรฯ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความสนใจเข้าร่วมด้วย
การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเดียวคือการร่วมแก้ปัญหาหมอคางดำ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถจัดการกับปัญหานี้อย่างยั่งยืนต่อไป