นายน้ำยา วายุภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Kintone (Thailand) จำกัด เปิดเผยว่า ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของ GDP ภายในปี 2570 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยมีประชากรกว่า 80% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และกว่า 99% เป็นบริษัทเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กของไทยแสดงความสนใจอย่างมากในการเปลี่ยนโฉมสู่ออฟฟิศดิจิทัล แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้

ขณะที่ตลาดเทคโนโลยีโลกมีโซลูชันมากมาย แต่ชาวไทยจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและบำรุงรักษาระบบใหม่ ทำให้รู้สึกปลอดภัยกว่าที่จะยึดติดกับกระบวนการแบบเดิม และโซลูชันดิจิทัลช่วยให้การใช้งานง่าย สะดวกมากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้ มองว่าเป็นโอกาสที่ทาง Kintone จะเข้ามาทำตลาดในไทย หลังจากได้เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2011 ผ่านตัวแทน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาเปิดบริษัทและให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้า 300 บริษัท ซึ่งกว่า 85% เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาทำตลาดในไทย และอีก 15% เป็นบริษัทไทยที่ต่อยอดมาจากลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นที่ได้พูดคุยแนะนำ จึงตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 จะมีสัดส่วนบริษัทไทยเพิ่มเป็น 20% 

“รูปแบบการให้บริการของ Kintone จะมาในรูปแบบของโซลูชันทำงานแบบ DIY ที่มาช่วยระบบการทำงานในออฟฟิศทั้งหมด เช่น ระบบแบบฟอร์มต่างๆ ระบบการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น ซึ่งบริการดังกล่าว ลูกค้าจ่ายค่าบริการเพียงค่าการสมัครล็อกอินเข้ามาใช้งานเท่านั้น เบื้องต้น 1 บริษัทที่ต้องการให้มีพนักงานเข้าใช้งาน 5-10 คน เฉลี่ยต่อเดือนจ่ายเพียงประมาณ 4,000 บาทเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเสียค่าดูแลระบบหรือสร้างระบบขึ้นมา ถือเป็นการลดต้นทุนให้ลูกค้าในเรื่องการวางระบบไอที ที่เดิมแต่ละบริษัทต้องลงทุนในหลักล้านบาทขึ้นไป”

อย่างไรก็ตาม โซลูชันดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนกระดาษ ย่นโปรเซสการทำงานให้สั้นลง และสร้างรายได้ได้มากกว่าเดิม ยกตัวอย่าง เช่น ลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายเครื่องปริ้นเตอร์ ฝ่ายขายออกไปหาลูกค้าและนำโซลูชันของ Kintone ไปใช้ ช่วยให้ฝ่ายขายคนนั้นปิดการขายได้เร็วขึ้น และสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น จากเดือนละ 90,000 บาท เป็นมากกว่า 200,000 บาท ได้ภายใน 1 เดือน 

ทั้งนี้ การทำตลาดในไทยบริษัทจะเน้นกลุ่มเป้าหมายใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มเซอร์วิส เทรดดิ้ง และแมนูแฟกเจอริ่ง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ก็สามารถใช้งานโซลูชันของทาง Kintone ได้ทั้งหมด ซึ่งที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย เช่น สถานศึกษาต่างๆ มั่นใจว่า ภายในปี 2568 จะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 500 บริษัท และใน 3 ปี ที่จะต้องมีลูกค้าที่ 1,000 บริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยมักจะยึดติดกับกระบวนการเดิมๆ หรือใช้ซอฟต์แวร์ฟรี ประกอบกับต้นทุนในการจ้างทีมไอทีและผู้มีประสบการณ์ที่สูงเกินไป ส่งผลให้โซลูชันที่มีอยู่มากมายยังไม่ถูกนำมาใช้งาน ดังนั้นโซลูชันของ Kintone ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามาดูแลระบบและปรับแต่งระบบได้เองโดยตรง ถือเป็นโซลูชันที่ธุรกิจในไทยจะสามารถนำไปปรับใช้งานได้ แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานด้านไอที

“Kintone เป็นผู้สร้างโซลูชันพื้นที่การทำงานแบบ DIY และเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการธุรกิจไทย ตอบสนองไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านการสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถจัดการด้วยตนเองได้แบบครบวงจรแบบ all-in-one พร้อมออกแบบ Workflow ในองค์กรได้แบบไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรม (no-coding) ให้ยุ่งยาก เชื่อมต่อทุกระบบผ่าน Cloud Service ทำให้ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่สำนักงาน บ้าน หรือประชุมกับลูกค้าก็สามารถเข้าถึงระบบการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เต็มที่”

นอกจากนี้ จุดเด่นของระบบเหล่านี้คือความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ธุรกิจที่นำเครื่องมือแบบ no-code มาใช้จะสามารถประหยัดเวลาและทรัพยากรด้านระบบไอที ซึ่งสามารถนำไปใช้ในด้านอื่นๆ ได้ ตลาดของไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและรับมือกับคู่แข่งขันอย่างรวดเร็วจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จ