สำหรับหลายๆ คน เมื่อายุมากขึ้นจนถึงช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มพบสัญญาณไม่พึงประสงค์ว่าร่างกายทำงานได้ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน เช่น เจ็บตัวบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงกว่าเดิม

ผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา บนเว็บไซต์ “Nature Aging” แสดงให้เห็นสาเหตุที่อาจทำให้ร่างกายเสื่อมถอย นักวิจัยพบว่าโมเลกุลและจุลินทรีย์ทั้งภายในและภายนอกร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 44 ปี และเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อถึงอายุ 60 ปี การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งการทำงานของภูมิคุ้มกัน

ผลการวิจัยดังกล่าว ได้จากการที่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกันวิเคราะห์เลือดและตัวอย่างทางชีวภาพอื่นๆ ของอาสาสมัครจำนวน 108 คน อายุระหว่าง 25 ถึง 75 ปี ซึ่งบริจาคตัวอย่างอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

ไมเคิล สไนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์จีโนมิกส์และการแพทย์เฉพาะบุคคลแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมดิซิน และเป็นนักเขียนอาวุโสของกรณีศึกษานี้ กล่าวว่า แม้คนเราจะต้องแก่ตัวลงเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติ แต่ก็มีช่วงเวลาสำคัญ 2 ช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เขาอธิบายว่า “การเผาผลาญไขมันในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เมื่อคนเรามีอายุ 40 ปี และการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต จะเปลี่ยนแปลงอย่างมากตอนคนเรามีอายุ 60 ปี”

ไขมันในที่นี้หมายถึง ลิพิด (Lipid) เป็นสารชีวโมเลกุลที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งรวมทั้งคอเลสเตอรอล LDL, HDL และไตรกลีเซอไรด์ ที่มีหน้าที่ทำประโยชน์หลายอย่างในร่างกาย แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดอันตรายได้หากสะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป

นักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้ ได้ติดตามโมเลกุลหลายชนิดจากตัวอย่างที่เก็บมา รวมทั้ง RNA และโปรตีน ตลอดจนไมโครไบโอม (จุลชีพทั้งหมดในร่างกาย) ของผู้เข้าร่วม

การเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญในร่างกายที่นักวิจัยค้นพบ ไม่เพียงบ่งชี้ว่าคนในวัย 40 ปี จะเผาผลาญแคลอรีได้ช้าลง แต่ยังบ่งชี้ด้วยว่า ร่างกายกำลังย่อยสารอาหารแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทีมวิจัยยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

ส่วนผลการวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการใช้พลังงานหรืออัตราการเผาผลาญขณะพัก (Resting metabolic rate) จะไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุ 20-60 ปี ผลการศึกษาใหม่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับสิ่งนั้น แต่รูปแบบหรือลักษณะการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามวัยจะส่งผลเกี่ยวกับการตอบสนองของร่างกายต่อแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน แม้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม ในกรณีของกาเฟอีนนั้น พบว่าอาจส่งผลให้เรามีความไวต่อสิ่งเร้ามากขึ้น

สไนเดอร์ ยังชี้ว่า ตอนนี้ไม่มีความแน่ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์หรือปัจจัยด้านพฤติกรรมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญแอลกอฮอล์ อาจเป็นเพราะผู้คนดื่มมากขึ้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

ดร.ลอรี เซลท์เซอร์ ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาและชีววิทยาเซลล์ จากวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์วาเกลอส มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า การศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ทราบผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญดังกล่าว แต่ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าร่างกายของเราเผาผลาญอาหารต่างจากเดิมเมื่อถึงวัย 40 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

เซลท์เซอร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญในร่างกายที่นักวิจัยพบในครั้งนี้ อาจช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับช่วงอายุต่าง ๆ ได้หลายประการ เช่น การสูญเสียกล้ามเนื้อ เนื่องจากร่างกายของเราย่อยอาหารแตกต่างไปจากเดิม

ที่มา : nbcnews.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES