นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในการเปิดงาน Huawei Cloud Summit Thailand ภายใต้ธีม “Ignite Thailand: Digital for All” ร่วมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนประเทศ “IGNITE THAILAND” เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ 8 ด้าน ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.เกษตรกรรมและอาหาร 4.การบิน 5.โลจิสติกส์ 6.ยานยนต์แห่งอนาคต 7.การเงิน และ 8.เศรษฐกิจดิจิทัล

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลพร้อมต้อนรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ที่ต้องการลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing พร้อมเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้วยการวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และทุกภาคส่วน ผ่านการผลักดันการใช้งานระบบคลาวด์กลาง เป็นโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานหลักของภาครัฐ ด้วยโครงการระบบคลาวด์กลาง GDCC ภายใต้ความดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งปัจจุบันรองรับหน่วยงานใช้บริการมากกว่า 800 หน่วยงาน และมีระบบงานหลักของรัฐที่โอนย้ายมายังระบบคลาวด์กลางแล้วกว่า 3,000 ระบบงาน 

ขณะเดียวกัน เพื่อยกระดับความสามารถของบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ให้ก้าวไปอีกขั้น กระทรวงดีอี จึงได้กำหนดนโยบาย Cloud First Policy เพื่อตอบสนองแนวโน้มการใช้งานด้านข้อมูลและการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการเชื่อมโยงผู้ให้บริการภาครัฐและภาคเอกชน รองรับการบริการของภาครัฐ ในหน่วยงานรัฐบาลกว่า 450 แห่ง ให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการของภาครัฐแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น    

สำหรับนโยบาย Cloud First Policy อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล การใช้บริการคลาวด์ให้เป็นตามมาตรฐานสากล ด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การกำหนดราคา และการติดตามตรวจสอบการให้บริการ

ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างดิจิทัล ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการที่ กระทรวงดีอี ได้รับความร่วมมือจาก หัวเว่ย ในการลงทุนและพัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน AI และ Cloud ผ่านการจัดตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ผลิตคนด้าน AI และ Cloud ปีละ 10,000 คน หรือ 50,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ผู้ที่มีทักษะ AI & Cloud จำนวนกว่า 60,000 ล้านบาท แก้ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรด้าน AI และ Cloud

“นโยบาย Cloud First นอกจากจะช่วยขับเคลื่อน รัฐบาลดิจิทัล ที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยของข้อมูล ในการให้บริการประชาชน มีการบริหารจัดการงบประมาณที่โปร่งใส และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ต่อเนื่องสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคอีกด้วย” นายประเสริฐ กล่าว

ด้าน นายเดวิด หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ในฐานะผู้ร่วมจัดงานในวันนี้ กล่าวว่า หัวเว่ย คลาวด์ มีโซนการให้บริการ (Availability Zone) ในประเทศไทย ทำให้พันธมิตรและลูกค้าสามารถจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทย ในขณะที่ยังสามารถลดความหน่วงของเครือข่าย คลาวด์ (Cloud networking latency) ทั่วประเทศเหลือเพียง 12ms

นอกจากนี้ หัวเว่ย คลาวด์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงดีอี เพื่อเปิดตัว e-Government Cloud เพิ่มการทำงานร่วมกันทางดิจิทัลและคุณภาพการบริการสาธารณะ อีกทั้งยังร่วมมือในโครงการสมาร์ทซิตี้ (Smart City) แห่งแรก ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ปรับปรุงบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งยังได้พัฒนาเหมือง SCG สีเขียวแห่งแรก และโรงงานอัจฉริยะ Matsumoto เพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน