โดยมี เป้าหมายการลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โดยเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของประเทศไทย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนแห่งเอเชียแปซิฟิก จึงได้จัดการประชุมเสวนาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หัวข้อ “ก้าวสู่ Net Zero ประเทศไทยไร้มลพิษพลาสติก” ขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเซอร์คูลาร์อีโคโนมี ในเชิงธุรกิจ

โรดแม็ปพลาสติกอาเซียน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะนายกสมาคมและประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแก้ไขขยะพลาสติกทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้งสมาคมเทคโนโลยีพลาสติกเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม การคัดแยกขยะ และเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับเรื่องการแยกขยะพลาสติก ถือเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่นในฐานะผู้มีหน้าที่จัดเก็บขยะ ในนามของการบริการการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย จะเชื่อมเรื่องพลาสติกกับเน็ตซีโร่ นอกจากโรดแม็ปของประเทศไทยแล้ว กำลังผลักดันให้เกิดโรดแม็ปของอาเซียน เพราะพลาสติกเป็น ปัญหามลพิษข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับปัญหาหมอกควันจึงต้องทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

จากข้อมูล ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยมีการเก็บขยะพลาสติกประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี มีสัดส่วนระบบจัดการได้อย่างถูกต้องและสามารถนำมาสู่การรีไซเคิลได้เพียง 25% ที่เหลืออีก 75% ถูกนำไปฝังกลบ เผา หรือกองทิ้งเล็ดลอดออกสู่คลอง แม่นํ้า และปลายทางที่ทะเล

เม็ดพลาสติกสร้างจีดีพี 8%

วิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พลาสติกดูสวนทางกับความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ถ้านึกถึงในสภาพปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน ต้องมีพลาสติกอยู่ในนั้นในเฉพาะประเทศไทยเชื่อมโยงไปถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ที่เราเจอก๊าซในอ่าวไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศพอสมควร ทั้งนี้ถ้าไม่นับเรื่องก๊าซธรรมชาติ เอาตั้งแต่เม็ดพลาสติกที่ผลิตในประเทศไทยรวมแล้วมีประมาณ 10 ล้านตัน และมีการส่งออกไปครึ่งหนึ่ง และเรานำเข้าประมาณ 2 ล้านกว่าตัน สรุปแล้วเราใช้เม็ดพลาสติกประมาณ 7-8 ล้านตัน เมื่อดูครบวงจร ตั้งแต่เม็ดพลาสติกไปจนถึงผลิตภัณฑ์จะเป็นมูลค่ารวมประมาณ 14 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความหมายต่อประเทศไทย เมื่อแยกแอปพลิเคชันออกไปเรา ใช้พลาสติก 7-8 พันล้านตันจะเป็นขยะอยู่ประมาณ 2 พันล้านตัน และมีประมาณ 5 แสนตันนำกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งตัวนี้เราต้องเข้าไปบริหารจัดการต่อ

พลาสติกยังสำคัญต่อแพ็กเกจจิง

นายวิรัช กล่าวต่อว่า แพ็กเกจจิงมีความสำคัญกับเราพอสมควร และจะเกิดปัญหากับเรามากที่สุดเพราะเราผลิตอาหาร และอาหารต้องแพ็กเพื่อการขนส่ง ซึ่งการขนส่งถ้าเราใช้วัสดุอย่างอื่นเพื่อมาทำเป็นแพ็กเกจจิง นํ้าหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เมื่อค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ขนของได้น้อยลงใช้นํ้ามันในการขนส่งมากขึ้น เราก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น คุณสมบัติของพลาสติกเบาทิ้งง่าย ตัววัสดุไม่ผิดแต่ผู้ใช้ต้องมีความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ต่างหาก

รีไซเคิลต้องทำให้เกิดเซอร์คูลาร์อีโคโนมี

ณัฐนันท์ ศิริรักษ์ โรงงานพลาสติกรีไซเคิลแบบครบวงจรคุณภาพสูง Food Grade กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ในฐานะบริษัทที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปริมาณการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่นำมาทำขวดนํ้าดื่ม PEP ประเทศเราบริโภคกันปีละ 4 แสนตัน แต่เก็บกลับมาได้ประมาณ 40-60% ขณะที่บริษัทมีกำลังการผลิตพลาสติก HPE อยู่ที่ 3.5 หมื่นตัน โดยการหาวัตถุดิบมาจากซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่าเรารับซื้อที่กิโลกรัมละ 20 บาท ขณะที่ซาเล้งรับซื้อ กก.ละ 3 บาท อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา องค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกบรรจุอาหารได้แล้ว 5-6 โรงงาน หลังจากนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพราะการหาวัตถุดิบร้านรับซื้อของเก่าอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงต้องส่งเสริมให้เกิดเซอร์คูลาร์อีโคโนมี ขณะนี้เกิดขึ้นในจ.ระยองแล้ว 15 ชุมชนรอบโรงงาน ให้มีการแยกขยะแล้วส่งตรงเข้าโรงงานเมื่อหักค่าขนส่งแล้วรับซื้อในราคา กก.ละ 10 บาท ขณะที่โรงเรียนได้ส่งเสริมไป 20 กว่าแห่ง

จุดดรอฟหรือแยกขยะ สิ่งที่ได้คือการสื่อสารกับคนกลุ่มจำนวนมาก แต่ปริมาณขยะที่ได้น้อยใน 1 ถังได้แค่ 1-2 กก. เพราะขวด 1 กก. ต้องมีถึง 50 ขวด ซึ่งต้องใช้พื้นที่และเสียพลังงานในการขนส่ง ดังนั้นเราต้องมีเครื่องจักร หวังว่าเรามีโครงการ EPR (Extended Producer Responsibility) จะมีเงินบางส่วนมาสนับสนุนการเก็บคัดแยกได้เร็ว” ณัฐนันท์ กล่าวทิ้งท้าย.