จากที่ชาวประมงและกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ พบและจับปลาหมอบัตเตอร์ 1 ใน 3 ปลาหมอต่างถิ่น ที่กรมประมงห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2561 พร้อมๆ กับปลาหมอสีคางดำ และปลาหมอมายัน ภายหลังจาก นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผวจ.อุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันปัจจุบันพบปลาหมอบัตเตอร์แพร่พันธุ์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลทำให้พันธุ์ปลาดั้งเดิมลดน้อยลง และเข้าไปแทนที่ปลาประจำถิ่นบางชนิดแล้ว เบื้องต้นได้จัดงบประมาณมอบหมายประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ เร่งสำรวจและประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยง และหากจับได้ให้ทำลายหรือจัดทำเมนูรับประทาน เพราะเนื้อปลาหมอบัตเตอร์มีรสชาติดี มีความหนึบแน่น หอม หวาน เหมือนปลานิล

โดยที่ร้านจำหน่ายอาหารและของฝาก บริเวณสันเขื่อนสิริกิติ์ ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ร่วมกับเขื่อนสิริกิติ์ จัดกิจกรรม “ส่งเสริมการจับปลาหมอบัตเตอร์และนำมาปรุงอาหาร” ทั้งในครัวเรือนและสร้างรายได้ เพื่อลดจำนวนประชากร และยับยั้งการแพร่กระจายปลาหมอบัตเตอร์ไปยังแหล่งน้ำต่างๆ โดยแม่ครัวประจำร้านอาหารสันเขื่อนสิริกิติ์ กล่าวยืนยันว่า ปลาหมอบัตเตอร์ที่จับได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ หากตัวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป เนื้อจะเยอะ ทำได้ทั้งปลาเผา ทอดกระเทียม ฉู่ฉี่ ปลานึ่งราดมะนาว ยิ่งสดๆ เนื้อจะเยอะ แน่น หอม หวาน อร่อยเหมือนปลานิล

ด้าน นายอนุวัติ อุปนันไชย ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เท่าที่มีการสำรวจและรายงานพบว่าเมื่อปี 2546 ปลาหมอบัตเตอร์น่าจะหลุดมาจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงาม แพร่กระจายลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นปลา 1 ใน 3 ชนิด ที่กรมประมงห้ามครอบครอง เพาะเลี้ยง เฉพาะปลาหมอ มีปลาหมอคางดำ ปลาหมอบลายัน และปลาหมอบัตเตอร์ จากข้อมูลการสำรวจปี 2560-2563 ของกองวิจัยและพัฒนาน้ำจืด ปลาหมอบัตเตอร์จะอาศัยอยู่ในส่วนของน้ำลึก ตามตอไม้ กินสัตว์น้ำและพืชเป็นอาหาร ส่วนใหญ่จะกินลูกปลา กุ้งก้ามกราม ไข่ปลา มีผลกระทบต่อประชากรปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ลดลง ยืนยันว่าตอนนี้ พบเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ยังไม่พบ แพร่ขยายพันธุ์ได้ช้ากว่าปลาหมอคางดำ สามารถรับประทานได้ ทำเมนูหลากหลาย และเป็นปลาที่มีเนื้อเยอะ รสชาติค่อนข้างดี ที่ผ่านมาชาวประมงจับได้ ส่วนใหญ่ก็จะรับประทาน ไม่ปล่อยกลับลงสู่แหล่งน้ำ

“ขณะนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวประมงและกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ห้ามมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดดังกล่าว และจะมีการลงพื้นที่สำรวจประชากรปลาหมอบัตเตอร์ใหม่ เป็นมาตรการเร่งด่วน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ภายใน 2 เดือนจะมีการเก็บข้อมูลและสำรวจว่าพบบริเวณใดในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จากนั้นจะวางแผนเรื่องของการควบคุมจัดการ” นายอนุวัติ กล่าว