หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมีมติ 5 ต่อ 4 ในคดีร้องจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ของการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยส่งผลให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) โดยเศรษฐานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียง 358 วัน ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ต่อมาความเคลื่อนไหวทางการเมืองฝั่งพรรคเพื่อไทย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เข้าหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อรับทราบถึงการที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ “ชัยเกษม นิติสิริ” เป็นนายกฯ คนต่อไป แน่นอนว่าหลังมีการนำเสนอข่าวออกไปนั้น ทำให้แสงไฟไปส่องที่ชัยเกษมทันทีว่าเป็นใครและมีผลงานเด่นเรื่องอะไรบ้างถึงมีชื่อเต็งหนึ่ง

สำหรับ “ชัยเกษม นิติสิริ” เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ปัจจุบันอายุ 76 ปี เคยเป็นอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, อดีตที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ, อดีตอัยการสูงสุด, อดีตอัยการอาวุโส (ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด) สำนักงานอัยการสูงสุด คู่สมรส อัมพร นิติสิริ

การศึกษา
– ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนอัสสัมชัญ
– ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 28
– ระดับปริญญาตรีแผนกนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนการศึกษา ประเภทเรียนดี จากมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ 
– ระดับปริญญาโท L.L.M. จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลตามความต้องการของกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุด) และทุนของมูลนิธิ Starr ประเทศสหรัฐอเมริกา)
– จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 

การทำงาน
เริ่มรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วย จังหวัดสมุทรสาคร อัยการประจำกอง กองคดี และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา เขาเคยดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดภูเก็ต เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด เป็นอธิบดีอัยการฝ่ายปรึกษา พ.ศ. 2546-2550 ดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดและตำแหน่งสูงสุด คือ อัยการสูงสุด ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดได้รับตำแหน่งกรรมการและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

เคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2555 ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลายตำแหน่ง เช่น ประธานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการตรวจสอบ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรรมการ คณะที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ยังได้รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการและกรรมการอีกหลายตำแหน่ง อาทิ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหาร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) กรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารอาคารสงเคราะห์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเนชั่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กรรมการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย

เส้นทางการเมือง
ในสมัยที่ชัยเกษมดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฟ้องร้องทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และยังเป็นหนึ่งในฐานะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ร่วมทำคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 เกี่ยวกับโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว รวมทั้งสั่งไม่ฟ้องการทุจริตในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากกรณีดังกล่าวมีการวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามที่จะตอบแทนตำแหน่งให้ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 5 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากการพ้นจากตำแหน่งของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยผู้บัญชาการทหารบก และเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ในการร่วมเจรจาหาทางออกวิกฤติการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แต่การเจรจาในครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ เขายืนยันว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจยึดอำนาจการปกครองประเทศ​ เมื่อเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ชัยเกษมเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 3 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 เขาเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมกับแพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน และลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคเดิม ในลำดับที่ 10 และได้รับเลือกตั้ง แต่ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม จากนั้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
– พ.ศ. 2537 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
– พ.ศ. 2542 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
– พ.ศ. 2542 เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)