เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่กรมควบคุมโรค พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยรองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา โดย นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธ์ุ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เรียกว่า clade 1 (เคลด 1) หรือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง ยังไม่พบในประเทศไทย และสายพันธุ์ clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ในไทย และในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคทั่วโลก (2022-2024) ป่วยยืนยันสะสม 99,176 ราย เสียชีวิตสะสม 208 ราย

ส่วนสถานการณ์ในแอฟริกา (2022-2024) ป่วยสะสม 14,250 ราย (ยืนยัน 2,745 ราย) เสียชีวิตสะสม 456 ราย สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบป่วยยืนยันสะสมสายพันธุ์ เคลด 2 จำนวน 827 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย ( ข้อมูลตั้งแต่ ม.ค.-10 ส.ค. 67 140 ราย)  พบมากในเพศชาย 97.46% และเพศหญิง 2.54%

“การระบาดฝีดาษลิงในประเทศไทย และแอฟริกาจะแตกต่างกัน อย่างในแอฟริกาจะพบในเด็กมากกว่า และคนละสายพันธุ์กับประเทศไทย โดยไทยเป็นสายพันธุ์เคลด 2 ความรุนแรงก็แตกต่าง โดยของไทยไม่เท่าแอฟริกา อย่างไรก็ตาม จำนวนคนไข้ฝีดาษลิงในไทยน้อยกว่า ปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีการรณรงค์ให้ข้อมูลกับกลุ่มเสี่ยงมาตลอด และไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่แอฟริกา ขณะนี้ยังไม่พบ และยังไม่จำเป็นต้องห้ามการเดินทางแต่อย่างใด” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

ด้าน พญ.จุไร กล่าวว่า สายพันธุ์ของฝีดาษลิงสายพันธุ์ เคลด 1 จะพบในแอฟริกา ซึ่งไทยไม่มี โดยสายพันธุ์เคลด 1 มีการปรับตัวรุนแรงขึ้น เรียกว่าสายพันธุ์ clade IB (เคลด 1b) โดยพบในดีอาร์คองโก (DR Congo) ตั้งแต่ ก.ย. 2566 ป่วยสะสม 13,791 ราย (ยืนยัน 2,628) เสียชีวิต 450 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 3.2% พบผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้นและมีผู้ป่วยเสียชีวิต สำหรับเชื้อสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดจากการสัมผัสใกล้ชิด การมีเพศสัมพันธ์ ผู้อาศัยร่วมบ้าน และติดเชื้อในสถานพยาบาล ส่วนเด็กๆ อาจติดจากผู้ปกครอง แต่สายพันธุ์ เคลด 1b สามารถติดจากสัตว์ได้ เป็นไปได้ว่าผู้ปกครองไปคลุกคลีกับสัตว์ ล่าสัตว์ก็อาจติดเชื้อ และแพร่มายังเด็กๆ ได้ แต่ต้องย้ำว่า ยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ของไทยจะเป็นเรื่องต้องระมัดระวังทางเพศสัมพันธ์

“แต่ต้องเตือนกันว่า หากคนไทยเดินทางไปยังประเทศแถบแอฟริกา หรือพื้นที่เสี่ยง ก็ต้องระมัดระวังตัวเอง หากกลับมาแล้วมีอาการไม่สบายตัวภายใน 1 สัปดาห์ ต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง ข้อมูลต่างๆ ซึ่งทางแพทย์ในสถานพยาบาลจะมีการวินิจฉัย และจะส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง ที่กรมควบคุมโรคตามขั้นตอนต่อไป”

พญ.จุไร กล่าว สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในดีอาร์คองโก พบในเด็กมากขึ้นนั้น ย้ำว่าเป็นสายพันธุ์เคลด 1 ที่พัฒนาความรุนแรงเป็น เคลด 1b แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่พบในไทย โดยสายพันธุ์แอฟริกาที่เกิดขึ้นมาจากสัตว์ป่า เพราะคนแอฟริกาจะออกไปทำมาหากิน จับสัตว์ป่าก็ทำให้ติดเชื้อ เมื่อไวรัสปรับตัวก็รุนแรงและแพร่เชื้อได้ จากการที่เป็นเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศเขา ทำให้รุนแรงมากขึ้น

“ถามว่ามีโอกาสเข้ามาไทยหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า มี แต่น้อยมาก เพราะเรามีระบบเฝ้าระวัง สามารถตรวจจับได้ แต่หากใครไปเที่ยวในพื้นที่ระบาด หรือไปดีอาร์คองโก แล้วกลับมาไทย หากมีอาการไม่สบาย มีผื่น มีตุ่มขึ้นให้รีบพบแพทย์ทันที เราจะมีระบบเฝ้าระวัง ตรวจหาสายพันธุ์ตามขั้นตอน ขอย้ำว่า ระบบการเฝ้าระวังของไทยมีการเตรียมพร้อม จับได้แน่นอน แต่ขออย่าตระหนก เพราะการที่ไวรัสจะกลายพันธุ์เป็นแพร่จากคนสู่คน ค่อนข้างใช้เวลาหลายปี” พญ.จุไร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าอาการของสายพันธุ์ทั้งเคลด 1 และเคลด 2 แตกต่างกันหรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า เริ่มต้นเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป แต่จะมีตุ่มขึ้น โดยของแอฟริกาจะแตกต่างกันตรงที่ข้อมูลเด็ก จะมีปัญหาเรื่องตา จะมีอาการรุนแรง เมื่อถามว่าจำเป็นต้องห้ามการเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือคนเดินทางมาจากประเทศนั้นๆ หรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ยังไม่ต้อง เพราะขณะนี้องค์การอนามัยโลกก็ยังไม่ได้ห้าม แต่เราต้องรักษาอนามัยส่วนบุคคลให้ดี อย่างไปเที่ยวซาฟารี ก็ต้องรักษาความสะอาด รับประทานอาหารสุก เป็นต้น

เมื่อถามว่าขณะนี้ต้องรอองค์การอนามัยโลกประกาศโรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) พญ.จุไร กล่าวว่า ไม่ได้รอ เพราะตอนนี้ไทยมีระบบเฝ้าระวังโรคตลอด จึงไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม หากมีการประกาศออกมา ทางองค์การอนามัยโลก จะมีคำแนะนำออกมา ซึ่งมาตรการต่างๆ จะขึ้นกับแต่ละประเทศ แต่ไทยเรามีระบบในการตรวจสอบ เฝ้าระวังอยู่แล้ว เราทำก่อนจะมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สายพันธุ์เคลด 1b ถือเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า เรียกว่าเป็นสายพันธุ์ปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ที่เรียกกันว่า New Variants แต่ของไทยไม่ใช่ เป็นสายพันธุ์เคลด 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง (Mpox) เกี่ยวกับแต่ละจังหวัดในประเทศไทย พบว่ามี 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ยอดรวมสะสม 441 ราย รองลงมา คือ ชลบุรี 78 ราย นนทบุรี 42 ราย สมุทรปราการ 31 ราย ภูเก็ต 31 ราย ระยอง 25 ราย ปทุมธานี 25 ราย เชียงใหม่ 23 ราย สงขลา 12 ราย และขอนแก่น 12 ราย.