เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานรับมอบกล่องอากาศดี จำนวน 72 กล่อง ภายใต้โครงการคืนลมหายใจที่ไร้ฝุ่นให้แก่เด็กในสังกัดกรุงเทพมหานคร เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 

โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. นพ.ไพศาล เลิศฤดีพร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตฯ นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผอ.สำนักพัฒนาสังคม อาจารย์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องร่วมงาน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นใน กทม. เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้ที่เชียงใหม่ ที่สำคัญมีเด็กเล็กจำนวนมาก เมื่อฝุ่นเข้าไปอยู่ในปอดของเด็กจะอยู่ในนั้นไปอีกนาน อีกทั้ง กทม. มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด กทม. หลายแห่ง บางส่วนอยู่ในพื้นที่เอกชน จึงเป็นเรื่องยากในการจัดสรรงบประมาณเข้าไปดูแล เด็กอีกบางส่วนต้องอยู่ในห้องที่ฝุ่นสามารถเข้าไปได้ 


ดังนั้นหัวใจในการสู้ปัญหาฝุ่นต้องมี 4 เกลียว ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน วิชาการ และภาคเอกชน มาร่วมกัน หากผูก 4 เกลียวนี้เป็นเชือกที่แข็งแรงจะสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งมูลนิธิเวชดุสิต และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ช่วยทำอุปกรณ์เป็นต้นแบบซึ่งเป็นประโยชน์กับ กทม. อย่างมาก


สำหรับโครงการคืนลมหายใจที่ไร้ฝุ่น เกิดจากความตั้งใจของมูลนิธิเวชดุสิตฯ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้นนวัตกรรมกล่องอากาศดี ที่ใช้แนวคิดของห้องความดันบวกในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล เพื่อผลักให้ฝุ่น PM 2.5 ออกจากห้องความดันบวก โดยเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ มูลนิธิเวชดุสิตฯ จึงได้เลือกกลุ่มเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดนำร่อง 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย เพราะเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมในห้องเดิมๆ พื้นที่เดิมๆ จึงสามารถจำกัดพื้นที่การอยู่ของเด็กๆ ได้


จากการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 65 จนถึงปัจจุบัน ช่วยเหลือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดนำร่องไปแล้วกว่า 260 แห่ง เด็กเล็กอายุ 3-7 ขวบได้รับอากาศที่บริสุทธิ์แล้วมากกว่า 5,000 คน และปี พ.ศ. 67 มูลนิธิเวชดุสิตฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะขยายพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ กทม. ที่ประสบกับปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็กเช่นเดียวกัน 


ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด กทม. มีการดำเนินโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว กทม. จึงเล็งเห็นว่าโครงการคืนลมหายใจที่ไร้ฝุ่นสามารถที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ได้ โดยจะดำเนินการอบรบการทำกล่องอากาศดีแบบ DIY มอบให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด กทม. จำนวน 72 ศูนย์ และจะทยอยนำส่งจนครบ 200 กล่อง ภายในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กได้รับอากาศบริสุทธิ์กว่า 2,000 คน.