เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีมีการยื่นให้ กกต.ตรวจสอบการตั้งสาขาพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชน ว่า ในอดีตมีการจัดตั้งครบ 4 สาขาในแต่ละภาคเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปีจริงหรือไม่ ว่า ตามกฎหมายแล้วความเป็นพรรคการเมือง มีอยู่ 3 ลักษณะ 1.ความเป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นทันทีในวันที่จดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่ง ณ เวลานั้นพรรคอาจยังไม่มีสาขาพรรค มีสมาชิกไม่ครบ แต่พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ทันที รวมถึงสามารถรับบริจาคได้ โดยพรรคจะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คนและจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาภายในกำหนดเวลา 1 ปี 2.พรรคที่มีความสมบูรณ์ คือมีสมาชิก มีสาขาพรรคครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดภายในระยะเวลา 1 ปี

3.พรรคที่ดำเนินกิจการไปแล้วอยู่ๆ สาขาพรรคหายจากหลายสาเหตุ เช่น สมาชิกไม่ครบก็ขอยกเลิกสาขาพรรค แต่กฎหมายให้เวลาจัดตั้งสาขาพรรคในส่วนที่ขาดให้ครบ 4 ภาค ภายใน 1 ปี กรณีของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองขอยกเลิกสาขาพรรค 3 แห่ง เหลือเพียงสาขาภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อกฎหมายให้เวลาจัดตั้งสาขาให้ครบภายใน 1 ปีก็คือภายในวันที่ 3 เม.ย. 2568

ดังนั้นความเป็นพรรคการเมืองยังคงอยู่ เมื่อพรรคก้าวไกลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคและสมาชิกย้ายมาอยู่พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน ไม่ว่าพรรคจะมีสาขาพรรคครบหรือไม่ ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยผู้บริหารพรรคชุดใหม่ที่เข้ามาก็ต้องมาจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบตามเงื่อนไขภายใน 1 ปี ที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาพรรคก็มีการแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคเพิ่มเติมมายังนายทะเบียนฯ แล้ว

“นายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งนายทะเบียนฯ จะรู้อยู่ตลอดเวลาว่า พรรคไหนมีการเพิ่มลดสมาชิก มีการจัดระดมทุน สาขาพรรคขาด ซึ่งก็จะมีการแจ้งเตือนก่อนครบกำหนดเวลา จึงไม่ต้องมาตรวจสอบย้อนหลังอะไร” นายแสวง กล่าว

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคประชาชนยังไม่มีบัญชีธนาคารของพรรค ผู้รับเงินไม่ใช่พรรค และรับบริจาคโดยวิธีออนไลน์  ผิดกฎหมายหรือไม่  นายแสวง กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน กฎหมายกำหนดว่าเมื่อพรรคการเมืองรับบริจาคต้องรายงานนายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน 15 วัน ในส่วนบัญชีธนาคารของพรรคการเมือง ธนาคารจะไม่ออกเล่มบัญชีให้จนกว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่จะประสบปัญหานี้ ไม่สามารถนำเงินที่เป็นทุนประเดิมจัดตั้งพรรคเข้าบัญชีได้ แต่ในส่วนของพรรคประชาชน เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล  จึงมีบัญชีธนาคารของพรรคเดิมอยู่แล้ว ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่า เขารับบริจาคผ่านเข้าบัญชีนี้หรือไม่ หรือเงินบริจาคเข้าบัญชีชื่ออื่นเพราะอะไร ทั้งนี้ วิธีการรับบริจาคกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ ต้องดูว่าข้อบังคับพรรคเขียนอย่างไร ถ้าเขียนว่า รับบริจาคออนไลน์ได้ ก็ทำได้ แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

“เมื่อได้รับบริจาคไม่น้อยกว่า 5,000 บาท จะต้องมีการออกใบเสร็จให้กับผู้บริจาคภายใน 7 วันตามที่กฎหมายกำหนด และแต่ละเดือนต้องติดประกาศรายชื่อผู้บริจาคให้ประชาชนทราบ รวมถึงแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ที่สำคัญการรับบริจาคไม่ว่าจะรับเงินสดหรือออนไลน์ เงินจำนวนมากหรือน้อย พรรคต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้บริจาคด้วยว่า เป็นบุคคลที่กฎหมายห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคหรือไม่ เพราะตรงนี้มีโทษถึงขั้นยุบพรรค” เลขาธิการ กกต.กล่าว

เมื่อถามว่ามีการคัดค้านไม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบรับการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว นายทะเบียนฯ ก็ต้องพิจารณาอยู่บนหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะใช้ความรู้สึกมาพิจารณาไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคก็ยังไม่ได้ส่งเรื่องดังกล่าวมา.