14 ส.ค. เป็นวันสำคัญทางการเมืองอีกวันหนึ่ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. เพื่อชี้ชะตา “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ ในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาล รธน.วินิจฉัย ตาม รธน.มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตาม รธน. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่ จากกรณี “นายเศรษฐา” ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า “นายพิชิต” ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตาม รธน. เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้  

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ส.ค. เวลา 09.30 น. ตุลาการศาล รธน. ได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 15.00 น.  คดีนี้ “ศาล รธน.” รับคำร้องเฉพาะในส่วนของนายเศรษฐาไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หากนับจากวันที่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย จนถึงวันที่ศาลนัดตัดสินคือ 14 ส.ค. 2567 รวมระยะเวลาดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ใช้เวลา 84 วัน ถ้าคำวินิจฉัยออกมาในทางบวก “นายเศรษฐา” ได้ทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลต่อสิ่งที่ต้องตามต่อคือ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะช่วงที่ผ่านมาพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

โดย “นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน”  ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้เสนอชื่อ ”นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการพรรค ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในโควตาของพรรคที่มีตำแหน่งว่างอยู่ รวมทั้งจะมีการปรับ ครม.ในส่วนโควตาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในส่วนของ ”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคหรือไม่ ซึ่งมี ”บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ทำหน้าที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่อยู่ หลัง “นายทักษิณ ชินวัตร” ผู้มากบารมีในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย (พท.) เคยออกมาส่งสัญญาณว่า ที่บ้านเมืองมีปัญหาความวุ่นวาย เพราะคนอยู่ในป่ามีส่วนสำคัญ แต่ถ้า ”นายเศรษฐา” ไม่ได้ไปต่อ ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 นั่นหมายความว่า ครม.ต้องพ้นสภาพไปทั้งคณะ ต้องมีการสรรหานายกฯ กันใหม่ทางสภา ซึ่งคงจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้มากพอสมควร แต่เชื่อว่าไม่ถึงกับพลิกข้ามขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คงจะยังอยู่ในขั้ว 314 เสียง  11 พรรคเดิมต่อไปตามเดิม โดยคาดว่า พรรค พท.จะเสนอชื่อ “นายชัยเกษม นิติสิริ” หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทน

ทิ้งท้ายไว้ด้วยบทสัมภาษณ์ ”นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ และแกนนำพรรค พท.ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล กล่าวถึงการวินิจฉัยของศาล รธน.วันที่ 14 ส.ค.ว่า นายกฯ ไม่ได้มีความกังวลใจ ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลสบายใจ และขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนปมร้อนอีกเรื่องหนึ่งคือ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี ”นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ เป็นประธาน เมื่อการประชุมเข้าสู่ช่วงพิจารณาวาระสุดท้าย กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอวาระจร โดยไม่มีการระบุหัวเรื่องหรือรายละเอียดใดๆ พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่และผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม เหลือเพียง ครม. และบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่พิจารณาเท่านั้น

ท่ามกลางกระแสข่าวระบุว่า ที่ประชุม ครม.ได้ร่วมกันพิจารณาวาระจรดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับบุคคลบางกรณี ซึ่งพบว่า ภายหลังการประชุม ครม. นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงมาจากห้องประชุมด้วย ต้องรอดูว่า กระบวนการดังกล่าว เกี่ยวข้องกับขอพระราชทานอภัยโทษให้ใคร มียกเว้นหลักเกณฑ์และเปิดช่องทางเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ หากเป็นนักการเมืองและมีความใกล้ชิดกันผู้มีอำนาจในรัฐบาล ถือเป็นปมร้อน ที่กระทบกับฝ่ายบริหารแน่ๆ

อีกประเด็นต้องจับตาคือ ท่าทีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หลัง ”นายไชยชนก ชิดชอบ” สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค แถลงผลการประชุมพรรค ระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 67 ได้ร่วมประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธานการประชุม และภายหลังการประชุมได้มีการส่งร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) พ.ศ. … ให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมพิจารณา ซึ่งหลังจากที่ประชุมพรรคภท.ได้พิจารณาแล้ว พรรคได้มีจุดยืนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่าเบื้องต้นเราไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญ 3-4 ประเด็น คือ

1.พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และอาจทำให้มีการพนันทั้งบนดินและใต้ดินจนเกิดปัญหา 2.เรื่องผลประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชน เรายังรู้สึกว่ายังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะลงทุนทำเรื่องแบบนี้ 3.ผลกระทบต่อการขับเคลื่อนกระตุ้นท่องเที่ยว ซึ่งเราไม่มั่นใจว่ากาสิโนจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ และ 4.เท่าที่ดูยังไม่เห็นมาตราไหนของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุเรื่องการช่วยเหลือแรงงานชาวไทยในการจ้างงาน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมอื่นๆ คงมีความเห็นเช่นกัน และหวังว่ารัฐบาลจะนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณา ต้องรอดูว่าพรรค พท.จะปรับแก้ไขกฎหมาย หรือเดินหน้าผลักดันในเนื้อหาเดิม รวมทั้งเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาลงทุนหรือไม่ เพราะมีข่าวกลุ่มทุนบางรายใกล้ชิดกับบางพรรคการเมืองที่อยู่ในซีกรัฐบาล อีกทั้งประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ จะมีภาคประชาชนออกมาต่อต้านหรือไม่ ในที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาชน (ปชช.)” ที่เข้าสืบสานอุดมการณ์จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูเหมือนจะเจอวิบากกรรมไม่จบไม่สิ้น หลังเริ่มมีนักร้องเข้าไปร้องเรียนให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการทำกิจกรรมของพรรค เริ่มตั้งแต่ “นายราเชนทร์ ตระกูลเวียง” หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ ร้องขอให้มีการตรวจสอบพรรค กรณีการเปลี่ยนผ่านจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลมาเป็นพรรค ปชช. 2 ประเด็น ที่เห็นว่าไม่ชอบมาพากล คือ 1. การใช้ชื่อพรรคว่าพรรค ปชช. ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต. เพื่อขอใช้ชื่อนี้หรือไม่ และทาง กกต.อนุญาตแล้วใช่หรือไม่ อีกทั้งเห็นว่า ศาล รธน.มีคำสั่งให้ยุบพรรค ก.ก. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 จากนั้นวันที่ 9 ส.ค. มีการประกาศพรรคใหม่เลย ซึ่งมองว่ารวดเร็ว มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ส่วนประเด็นที่ 2 เงินที่รับบริจาคเข้าบัญชีใคร เข้าบัญชีพรรคถิ่นกาขาวฯ หรือไม่ แต่กลับมีการประชาสัมพันธ์ว่า เป็นการบริจาคให้พรรค ปชช. ถือเป็นการหลอกลวง ผิดเงื่อนไขหรือไม่ กกต.ต้องเร่งตรวจสอบ

ด้าน “นายทศพล พรหมเกตุ เลขาธิการพรรคไทยภักดี (ทภด.)” พร้อมตัวแทนพรรค เข้ายื่นหนังสือให้ กกต.ตรวจสอบเรื่องจำนวนสาขาของพรรค ปชช. เมื่อครั้งเป็นพรรคถิ่นกาขาวฯ และการเปิดบัญชีเพื่อรับบริจาคของพรรคประชาชน โดยนายทศพล กล่าวว่า จุดประสงค์ที่มาในวันนี้คือการมาทำหน้าที่พลเมืองที่ดี เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งต้องมีความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยขอให้ กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพรรคถิ่นกาขาวฯ และพรรค ปชช.

ประเด็นที่ 1 จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของ กกต.พบว่า พรรคถิ่นกาขาวฯ มีสาขาพรรคเพียง 3 สาขา (ได้แก่ ภาคเหนือ 2 สาขา และ ภาคกลาง 1 สาขา) ซึ่งอาจไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดภายในเวลา 1 ปี ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพตามมาตรา 91 (3) ประเด็นที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคให้กับพรรค ผ่านบัญชีธนาคาร แต่มีข้อสงสัยในเรื่องการรับบริจาคของพรรคการเมืองว่า ต้องเป็นไปตามข้อ 42 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งให้อำนาจกับหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรคเป็นผู้เปิดบัญชีธนาคาร โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจาก กกต. ว่าเป็นไปตามระเบียบเรื่องการเปิดรับบริจาคของ กกต. ต้องรอดูหลัง กกต.เข้าไปตรวจสอบจะพบมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งคงต้องบอกทุกย่างก้าวของพรรค ปชช. จะมีบางกลุ่มเข้าไปตรวจสอบเสมอ แม้การตั้งพรรคใหม่จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องมั่นใจส่งที่ดำเนินการไป ไม่มีปัญหาทั้งในเรื่องข้อกฎหมายและความถูกต้อง

“ทีมข่าวการเมือง”